สารบัญศาลหลักเมือง

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร (Bangkok City Pillar Shrine)

ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
ณ วันเสาร์ที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙


ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร (Bangkok City Pillar Shrine)

ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นศาลหลักเมืองที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น

ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันตั้งอยู่ : ณ บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของท้องสนามหลวง ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ถนนหลักเมือง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร


 เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑) ทรงรับอัญเชิญเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ แล้ว ก็โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระนครมายังฝั่งตรงข้ามกับกรุงธนบุรี มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมาธิกรณ์และพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองก่อสร้างพระมหานคร และพระบรมมหาราชวัง 

          และพระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  (รัชกาลที่ ๑) ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธียกเสาหลักเมืองขึ้น เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน ปีพุทธศักราช ๒๓๒๕ เวลา ๖.๕๔ นาฬิกา (ในเวลาย่ำรุ่ง ๕๔ นาที)  ณ ชัยภูมิใจกลางพระนครใหม่  ที่พระราชทานนามว่า "กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา"  หรือเรียกกันต่อมาว่า "กรุงเทพมหานคร"  สถิตสถาพรเป็นมิ่งขวัญของประชาชนชาวไทย การฝังเสาหลักเมืองมีพิธีรีตองตรงตาม พระตำราที่เรียกว่า "พระราชพิธีนครฐาน" โดยใช้ไม้ชัยพฤกษ์ทำเป็นเสาหลักเมือง ประกบด้านนอกด้วยไม้แก่นจันทน์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางวัดที่โคนเสา ๒๙ เซนติเมตร สูง ๑๘๗ นิ้ว กำหนดให้ความสูงของเสาหลักเมืองอยู่พ้นดิน ๑๐๘ นิ้ว ฝังลงในดินลึก ๗๙ นิ้ว มีเม็ดยอดรูปบัวตูม สวมลงบนเสาหลัก ลงรักปิดทอง ล้วงภายในไว้เป็นช่องสำหรับบรรจุดวงพระชันษาพระนคร (ดวงชะตาเมือง)




   จวบจนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔)  พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเสาหลักเมืองต้นใหม่ โดยให้ขุดเสาหลักเมืองเดิมและจัดสร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่ทดแทนต้นเดิมที่ชำรุดไปตามกาลเวลาเป็นแกนไม้สัก ประกบด้านนอกด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ๖ แผ่น สูง ๑๐๘ นิ้ว ฐานเป็นแท่นกว้าง ๗๐ นิ้ว บรรจุดวงเมืองในยอดเสาทรงมัณฑ์ที่มีความสูงกว่า ๕ เมตร และอัญเชิญหลักเมืองเดิมและหลักเมืองใหม่ ประดิษฐานในอาคารศาลหลักเมืองที่สร้างใหม่ มียอดปรางค์ที่ก่ออิฐฉาบปูนขาว ได้แบบอย่างจากศาลหลักเมืองกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๙๕  ซึ่งในครั้งนั้นพระองค์ได้ทรงผูกดวงชะตาพระนครขึ้นใหม่ ให้ถูกต้องตรงตามดวงพระราชสมภพ  เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยทั้งหลายที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารประสบความเจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรยิ่งขึ้น

         ดังนั้น : ภายในศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร  จึงมีเสาหลักเมืองจำนวน ๒ ต้น  ซึ่งเสาหลักเมืองต้นสูงสถาปนาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  (รัชกาลที่ ๑)  และได้ทำพิธีถอนเสาแล้ว  ส่วนเสาต้นที่สูงรองลงมาเป็นเสาหลักเมืองที่สถาปนาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) นั่นเอง



 ศาลหลักเมืองได้รับการปฏิสังขรณ์อีกหลายครั้ง ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๓ มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมการเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ ๒๐๐ ปี ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๕ ศาลหลักเมืองได้รับการบูรณะอย่างสวยงาม ด้านทิศเหนือจัดสร้างซุ้มสำหรับประดิษฐานเทพารักษ์ทั้ง ๕ คือพระเสื้อเมือง, พระทรงเมือง, พระกาฬไชยศรี, เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง มีการจัดละครรำ ละครชาตรี ให้ผู้ต้องการบูชาว่าจ้างรำบูชาศาลหลักเมืองอยู่ด้านข้าง

ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๙  ศาลหลักเมืองได้รับการบูรณะปรับปรุงให้มีความงดงามบริบูรณ์สมกับเป็นที่สถิตแห่งพระหลักเมืองและองค์เทพารักษ์ทั้ง ๕ ซึ่งเป็นเทพารักษ์คุ้มครองพระนครทั้ง ๕ องค์  ได้แก่ พระเสื้อเมือง, พระทรงเมือง, พระกาฬไชยศรี, เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง  ที่ประดิษฐาน  ณ  ศาลหลักเมืองแห่งนี้  เป็นองค์เดิมที่สร้างขึ้นเมื่อสมัย รัชกาลที่ ๑  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕  ได้มีการปรับปรุงพระนครครั้งใหญ่  มีการสร้างสถานที่ราชการและขยายถนนเพิ่มขึ้น  จึงได้ย้านเทพารักษ์ทั้ง ๕ จากที่เดิมมาประดิษฐาน  ณ  ศาลหลักเมือง  เพื่อทำหน้าที่ดูแล  รักษาพระนครและประเทศชาติ  ซึ่งพระมหากษัตริย์และประชาชนให้ความเคารพนับถือมาแต่โบราณกาลว่า  สามารถอำนวยความสุขสวัสดี  พิพัฒนมงคล  ป้องกันภัยพาลพิบัติอุปัทวทุกข์ทุกประการแก่ผู้เคารพบูชาได้

หน้าที่ขององค์เทพารักษ์ทั้ง ๕ องค์
พระเสื้อเมือง : เป็นเทพารักษ์ที่คุ้มครองป้องกันทั้งทางบก ทางน้ำ คุมกำลังไพร่พลแสนยากร รักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากอริราชศัตรูมารุกราน
พระทรงเมือง :  เป็นเทพารักษ์รักษาการปกครอง และรักษากระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ดูแลทุกข์สุขของประชาชนให้ร่มเย็นเป็นสุขสวัสดี 
พระกาฬไชยศรี : เป็นบริวารพระยม มีหน้าที่นำวิญญาณของมนุษย์ผู้ทำบาปไปสู่ยมโลก
เจ้าเจตคุปต์ : เป็นบริวารพระยม มีหน้าที่จดความชั่วร้ายของชาวเมืองที่ตายไป และ อ่านประวัติของผู้ตายเสนอพระยม
เจ้าหอกลอง เป็นเทพารักษ์ประจำหอกลอง มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเหตุการณ์ต่างๆ อันเกิดขึ้นในแผ่นดิน เป็นต้นว่าคอยรักษาเวลาย่ำรุ่ง ย่ำค่ำ และ เที่ยงคืน เกิดอัคคีภัย หรือ มีข้าศึกศัตรูยกมาประชิดพระนคร

          ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครหรือบ้างก็เรียกว่า ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง, หลักเมือง เป็นอีกหนึ่งจุด ที่ประชาชนคนไทยนิยมไหว้พระ ๙ วัด มักจะมาสักการะกันในช่วงปีใหม่  การไหว้ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ ก็เพื่ออธิษฐานขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสริมหลักชัยให้ชีวิต  

          
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
https://th.wikipedia.org/wiki/ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น