ณ
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ศาลหลักเมืองจังหวัดสิงห์บุรี (Sing Buri
City Pillar Shrine)
ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ ตำบลบางพุทรา
อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
ศาลหลักเมืองสิงห์บุรี
ในสมัยโบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัยตลอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
การสร้างเมืองใหม่จะต้องมีการสร้างศาลหลักเมืองและเสาหลักเมืองเสมอเป็นประเพณีสืบต่อกันมา
โดยทำพิธีให้เกิดความเป็นศิริมงคลแก่บ้านเมืองที่สร้างขึ้น จะมีพิธีการสร้างและยกเสาหลักเมืองขึ้นในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ
ศาลหลักเมืองสิงห์บุรี เป็นสถาปัตยกรรมไทย
มณฑปจตุรมุขทรงไทยรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูเข้า-ออกทั้ง ๔ ด้าน หลังคาทรงไทยเป็นชั้นลด ๒ ชั้น ทรงจั่ว ๔ ด้าน
ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ที่หน้าบันของมุขทั้ง ๔ ด้าน
สลักไม้ปิดทองประดับกระจกเป็นลวดลายดอกไม้ หลังคามุงกระเบื้องเกล็ด ชายคาหลังคาลาดลงมีโครงสร้างเป็นไม้
ส่วนของยอดปรางค์ประดับฝักเพกา ซ้อนกัน ๓ ชั้น และสวมปลายยอดด้วยฉัตรมงกุฎ ๗ ชั้น
เสาหลักเมือง ทำมาจากไม้สักทอง นำมากลึงและแกะลวดลายตามแบบเสาหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปดอกบัวตูม แล้วลงรักปิดทอง
ซึ่งได้จัดพิธีตั้งขบวนแห่เสาหลักเมืองที่ทำเสร็จแล้วจากวัดพิกุลทอง อำเภอท่าช้าง
จังหวัดสิงห์บุรี มาประดิษฐานไว้ ณ ศาลหลักเมืองสิงห์บุรี ขนาดของเสาหลักเมืองจากฐานเสาระดับพื้นอาคารศาลหลักเมืองสูง
๒.๗๐ เมตร ต้นเสาเป็นกลีบบัวโดยรอบสูง ๑๔ เซนติเมตร
จากฐานที่ตั้งเสาถึงยอดกลีบบัวสูง ๓๓ เซนติเมตร ส่วนที่เป็นยอดเสาสูง ๖๘ เซนติเมตร
ศาลหลักเมืองแห่งนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปีพุทธศักราช ๒๕๒๕
ศาลหลักเมืองจังหวัดสิงห์บุรี เป็นอาคารทรงไทยจตุรมุขสองชั้น หลังคายอดปรางค์อยู่กลาง มีประตูสี่ทิศ ฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส |
บานประตูศาลหลักเมืองจังหวัดสิงห์บุรี ที่แกะสลักอย่างสวยงาม |
เสาหลักเมืองจังหวัดสิงห์บุรี |
เสาหลักเมืองจังหวัดสิงห์บุรี |
ใบเซียมซี ภายในศาลหลักเมืองจังหวัดสิงห์บุรี |
สิงห์ - ศาลหลักเมืองจังหวัดสิงห์บุรี |
สิงห์ - ศาลหลักเมืองจังหวัดสิงห์บุรี |
ภายในเขตบริเวณศาลหลักเมืองสิงห์บุรี มีสถานที่กว้างขวางซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญอย่างยิ่งของชาวจังหวัดสิงห์บุรี มีพระพุทธรูปประจำศาลหลักเมือง "พระพุทธมงคลนพรัชภัทรปฏิมากร" ประดิษฐานอยู่ด้านทิศตะวันตกของศาลหลักเมือง และมีการสร้างพระประธานและรูปหล่อของเกจิอาจารย์ชื่อดังในจังหวัดสิงห์บุรีจำนวน ๙ องค์ ประดิษฐานอยู่ในศาลาเก้าสิงหเกจิอาจารย์ ซึ่งเปิดให้ประชาชนมานมัสการกราบไหว้ขอพร สถานที่แห่งนี้จึงเป็นที่เคารพของชาวสิงห์บุรีและประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนมาก
พระพุทธรูปประจำ ศาลหลักเมืองสิงห์บุรี "พระพุทธมงคลนพรัชภัทรปฏิมากร" |
ภายในศาลาเก้าสิงหเกจิอาจารย์ จังหวัดสิงห์บุรี |
ภายในศาลาเก้าสิงหเกจิอาจารย์ จังหวัดสิงห์บุรี
เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน พระพุทธรูปปางนาคปรก สมัยลพบุรี
พระประธาน พระพุทธรูปปางนาคปรก สมัยลพบุรี |
และ ๙ เกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดสิงห์บุรี มีดังนี้
๑. พระอาจารย์ธรรมโชติ (ธรรมโชติรังษี)
วัดโพธิ์เก้าต้น ตำบลบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน
ชาตะ พ.ศ. ๒๒๔๓ มรณะ พ.ศ. ๒๓๒๕
๒. พระครูศรีวิริยะโสภิต (หลวงพ่อศรี เกสะโร)
วัดพระปรางค์ ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน
ชาตะ พ.ศ. ๒๔๐๘ มรณะ พ.ศ. ๒๔๘๐
๓. หลวงพ่อวอน
วัดโพธิ์แก้วนพคุณ ตำบลบางพุทรา อำเภอเมืองสิงห์บุรี
ชาตะ พ.ศ. ๒๔๒๑ มรณะ พ.ศ. ๒๔๙๓
๔. พระครูสิงหราชมุณีวรนายก (หลวงพ่อพูน สาคโร)
วัดสังฆราชาวาส ตำบลบางมัญ อำเภอเมืองสิงห์บุรี
ชาตะ พ.ศ. ๒๔๑๙ มรณะ พ.ศ. ๒๔๘๕
๕. พระครูอินทรคณานุสิชนฌ์ (หลวงปู่เจ็ก อาจารสุโภ)
วัดระนาม ตำบลชีน้ำร้าย อำเภออินทร์บุรี
ชาตะ พ.ศ. ๒๔๔๐ มรณะ พ.ศ. ๒๕๓๘
๖. หลวงปู่บุดดา ถาวโร
วัดกลางชูศรีเจริญสุข ตำบลพักทัน อำเภอบางระจัน
ชาตะ พ.ศ. ๒๔๓๖ มรณะ พ.ศ. ๒๕๓๗
๗. หลวงพ่อชวง อภโย
วัดชีปะขาว ตำบลพระงาม อำเภอพรหมบุรี
ชาตะ พ.ศ. ๒๔๔๑ มรณะ พ.ศ. ๒๕๑๐
๘. พระธรรมมุนี (หลวงพ่อแพ เขมังกโร)
วัดพิกุลทอง ตำบลพิกุลทอง อำเภอท่าช้าง
ชาตะ พ.ศ. ๒๔๔๘ มรณะ พ.ศ. ๒๕๔๒
๙. พระครูสุจิตตานุรักษ์ (หลวงพ่อจวน สุจิตโต)
วัดหนองสุ่ม ตำบลห้วยชัน อำเภออินทร์บุรี
ชาตะ พ.ศ. ๒๔๕๗ มรณะ พ.ศ. ๒๕๓๖
ศาลหลักเมืองสิงห์บุรี ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ ตำบลบางพุทรา อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น