สารบัญศาลหลักเมือง

วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2559

ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง (Angthong City Pillar Shrine)

ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง
ณ วันเสาร์ที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙


ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง (Angthong City Pillar Shrine)
              ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ : ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัด ตำบลตลาดหลวง อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง

               ศาลหลักเมืองอ่างทอง เป็นอาคารจตุรมุขทรงไทย ตัวศาลสูงจากพื้นประมาณ ๑.๕ เมตร มีประตูเข้า-ออก ทั้ง ๔ ด้าน  ส่วนบนเป็นยอดปรางค์ หลังคา ๒ ชั้น เป็นปูนซีเมนต์ฉาบสีแดง 

                เสาหลักเมือง ซึ่งประดิษฐานอยู่ในศาลหลักเมืองบนแท่นแปดเหลี่ยม พื้นปูด้วยหินอ่อน เสาหลักเมืองทำจากไม้ชัยพฤกษ์ ซึ่งถือเป็นไม้มงคล คัดจาก ๑ ในจำนวน ๕ ต้น ที่นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มีลักษณะที่เรียกว่า "ไม้ขานาง" คือลำต้นตรงขึ้นไปแล้วแยกเป็น ๒ กิ่ง แบบง่ามหนังสติ๊กโบราณ ถือว่าเป็นไม้ที่เหมาะจะเป็นเสาโบสถ์ หรือเสาวิหาร ปลายยอดเสาหลักเมืองเป็นดอกบัวตูม

               ไม้ชัยพฤกษ์อันถือเป็นไม้มงคล ซึ่งนำมาทำเป็นเสาหลักเมืองของจังหวัดอ่างทองนั้น ได้ผ่านพิธีคัดเลือกต้นไม้ พิธีตัด พิธีอัญเชิญ พิธีกลึงเสา และฉลองรับขวัญอย่างถูกต้อง ตามพิธีหลวงของสำนักพระราชวังทุกประการ เสาหลักเมืองนี้ได้รับการตกแต่งแกะสลักลงรักปิดทองจากพระครูวิเศษชัยวัฒน์ และนายกำจัด คงมีสุข ซึ่งเป็นชาวอ่างทอง
      
             ด้านทิศเหนือของศาลหลักเมือง มีศาลาตรีมุขซึ่งใช้เป็นที่ประทับ หรือที่นั่งขององค์ประธาน หรือประธานในการประกอบพิธีต่างๆ ด้านทิศใต้ของศาลหลักเมือง มีศาลาทรงไทย ๒ หลัง ใช้เป็นสถานที่ให้บริจาคบูชาวัตถุมงคล และดอกไม้ ธูป เทียน ด้านทิศใต้ มีศาลาเรือนไทย เป็นที่รวบรวมของดีเมืองอ่างทองมาจำหน่าย 

            ศาลหลักเมืองและศาลาตรีมุข อยู่ห่างกันประมาณ ๓๐ เมตร เป็นลานกว้างใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม และการแสดงต่างๆ บริเวณศาลหลักเมืองมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๑.๕ ไร่ จึงสามารถจัดทำสวนดอกไม้ สวนหย่อม และปลูกหญ้าได้สวยงาม      

            ศาลหลักเมืองเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สถิตย์ของเทพารักษ์ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง ซึ่งปกปักษ์รักษาและปัดเป่าภัยพิบัติต่าง ๆ เพื่อให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองและประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข


             การสร้างศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง ได้มีพิธีการตัดไม้มงคลเพื่อนำมาเป็นเสาหลักเมือง มีการบวงสรวงก่อนตัดไม้มงคล โดยโหรหลวงจากสำนักพระราชวัง ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทองเป็นศาลหลักเมืองแห่งที่ ๒ ที่มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง ๔ ด้าน (ศาลหลักเมืองแห่งแรกที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังคือ ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร) ภายในศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทองมีภาพจิตรกรรมฝาผนังลาย “พุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง” ที่สวยงามมาก ศาลหลักเมืองอ่างทองเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สวยงามสมกับเป็นหลักชัยและหลักใจของประชาชนชาวอ่างทองอย่างยิ่ง
 
ภาพจิตรกรรมฝาผนังลาย “พุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง”
ท้าววิรุฬหกราช ผู้ปกปักษ์รักษาประจำทิศใต้
ท้าวกุเวรราช 
ผู้ปกปักษ์รักษาประจำทิศเหนือ

ภาพจิตรกรรมฝาผนังลาย “พุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง”
ท้าววิรูปักษ์ราช ผู้ปกปักษ์รักษาทิศตะวันออก
ท้าวธตรฐราช 
ผู้ปกปักษ์รักษาทิศตะวันตก

ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทองที่สวยงาม
ซึ่งเป็นศาลหลักเมืองแห่งที่ ๒ ของประเทศไทยที่มีการวาดภาพจิตรกรรมนี้

ประวัติศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง
            จังหวัดอ่างทอง เป็นจังหวัดที่เก่าแก่จังหวัดหนึ่ง จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานว่ามีชุมชนอาศัยอยู่แต่สมัยทวารวดี แต่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ในสมัย พระมหาธรรมราชา เมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๒๑๒๗ กล่าวถึงแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ ตัวเมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อยในสมัยกรุงธนบุรีได้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา

           ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณปีพุทธศักราช ๒๓๕๙ ได้ย้ายตัวเมืองอีกครั้งหนึ่ง มาตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงปัจจุบัน  และได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองอ่างทอง พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาล มณฑลอยุธยา ได้ให้ความเห็นไว้ว่าน่าจะมาจากชื่อ บางทองคำและ แม่น้ำประคำทองซึ่งอยู่ในบริเวณที่ตั้งศาลากลางจังหวัดในปัจจุบัน แต่ก็มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะเมืองตั้งอยู่ในที่ลุ่มมีลักษณะคล้ายอ่างและเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ จึงถือเป็นเมืองเงินเมืองทอง

           จากประวัติศาสตร์ปรากฏว่าได้มีการย้ายที่ตั้งเมืองถึง ๓ ครั้ง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด ว่าได้มีการสร้างศาลหลักเมืองไว้ ณ ที่ใด

           จังหวัดอ่างทอง ได้มอบให้นายกำจัด คงมีสุข ข้าราชการครูบำนาญ ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมไทยเป็นผู้ออกแบบสร้างศาลหลักเมือง และมีพระครูวิเศษชัยวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดชัยมงคลเป็นที่ปรึกษา

                ดังนั้น เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นมิ่งขวัญ เป็นหลักชัย และหลักใจของประชาชนชาวจังหวัดอ่างทอง คณะสงฆ์ ข้าราชการ พ่อค้าและประชาชน จึงได้ร่วมกันจัดหาทุนสร้างศาลหลักเมืองขึ้นโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงพระกรุณาเสด็จมาทรงเป็นประธานวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๓ บัดนี้การก่อสร้างศาลหลักเมืองได้เสร็จเรียบร้อยแล้วเป็นตัวอาคารจตุรมุข ยอดปรางค์ หลังคา ๒ ชั้น ตั้งอยู่บริเวณตรงข้ามศาลากลางจังหวัด ซึ่งอยู่ใจกลางเมือง องค์เสาหลักเมืองทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์  ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๔

                พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้ว่าราชการจังหวัด (นายทวีป ทวีพาณิชย์) เข้าเฝ้าน้อมเกล้าฯ ถวายยอดเสาหลักเมืองเพื่อทรงเจิม ทรงพระสุหร่ายและทรงบรรจุแผ่นยันต์เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๔ เวลา ๑๖.๓๐ น. ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธียกเสาหลักเมืองและเปิดศาลหลักเมืองเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๔ เวลา ๑๕.๓๐ น.

               สำหรับศาลหลักเมืองอ่างทอง ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี พุทธศักราช ๒๕๓๔ เนื่องจากผ่านกาลเวลามายาวนานถึง ๒๑ ปี จึงมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ทำให้ภายในศาลและภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง ๔ ด้านที่วิจิตรงดงามได้เกิดหลุดล่อน และเสื่อมโทรมไปตามสภาพ ทางเทศบาลฯ จึงได้ทำพิธีบวงสรวงเพื่อบูรณะปรับปรุง และซ่อมแซมองค์ศาลหลักเมืองขึ้นมาใหม่ให้มีความสวยงาม สมกับเป็นหลักชัยและศูนย์รวมใจของคนทั้งจังหวัด ซึ่งต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า ๖ ล้านบาท และในวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายวิศว ศะศิสมิต ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานในพิธีบวงสรวงศาลหลักเมืองอ่างทองเพื่อทำการบูรณะใหม่ เพื่อให้สวยงามดังเดิม

ความสวยงามโดยรอบอาคารของศาลหลักเมืองอ่างทอง
ศาลหลักเมืองอ่างทอง เป็นอาคารจตุรมุข
ตัวศาลสูงจากพื้นประมาณ ๑.๕ เมตร มีประตูเข้า-ออก ทั้ง ๔ ด้าน
ส่วนบนเป็นยอดปรางค์ หลังคา ๒ ชั้นเป็นปูนซีเมนต์ฉาบสีแดง
 
บนศาลาตรีมุขด้านทิศเหนือ ประดิษฐานโต๊ะหมู่บูชาองค์พระพุทธรูปปางต่างๆ 
หลวงปู่ทวด บนศาลาตรีมุขด้านทิศเหนือ

พระแม่ธรณี บนศาลาตรีมุขด้านทิศเหนือ
เจ้าแม่บนศาลาตรีมุขด้านทิศเหนือ นามว่า "นางเมล"
 ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง
ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ : ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัด
ตำบลตลาดหลวง อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น