สารบัญศาลหลักเมือง

วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559

ความสำคัญของศาลหลักเมือง


 ความสำคัญของศาลหลักเมือง



ศาลหลักเมืองความศักดิ์สิทธิ์ในความแตกต่าง
            ในการสร้างบ้านสร้างเรือน ต้องมีการตอกเสาเข็ม ลงเสาหลักของบ้าน ก่อนที่จะมีการสร้างบ้านให้แล้วเสร็จต่อไป
   
            สำหรับการสร้างเมือง  ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกันที่ต้องมีการสร้างหลัก ลงหลัก ปักเสา ให้เป็นสัญลักษณ์ว่าจะมีการก่อร่างตั้งบ้านเมือง ณ แห่งหนตำบลนี้ ซึ่งถือว่าได้ว่าการลง หลักเมืองนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากในการสร้างเมืองต่าง ๆ เพื่อให้เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเมืองที่สร้างขึ้นมา และเป็นดังหลักชัย หลักใจของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นๆ

ตำนาน เสาหลักเมืองหลักชัยคู่บ้านคู่เมือง      
            ดังตามพงศาวดารได้มีการกล่าวไว้ถึงความเป็นมาของการสร้างเสาหลักเมืองของชนชาติไทยว่า ปรากฏให้เห็นการจัดสร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี มาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์
   
            สำหรับประเพณีการตั้งหลักเมืองนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้อธิบายไว้ว่า การสร้างหลักเมือง เป็นประเพณีพราหมณ์ที่มาแต่อินเดีย ประเทศไทยตั้งหลักเมืองขึ้นตามธรรมเนียมพราหมณ์ ที่จะเกิดหลักเมืองนั้นคงเป็นด้วยประชาชน  ในชุมชนนั้นต่างกัน ที่อยู่เป็นหมู่บ้านก็มี หมู่บ้านหลายๆ หมู่บ้านรวมเป็นตำบล ตำบลตั้งขึ้นเป็นอำเภอ อำเภอเดิมเรียกว่าเมือง เมืองหลายๆ เมืองรวมเป็นเมืองใหญ่ เมืองใหญ่หลายๆ เมืองเป็นมหานคร คือ เมืองพระมหานคร
   
           การสร้างหลักเมืองตามประเพณีโบราณที่นิยมสร้างหลักเมืองไว้ เป็นมิ่งขวัญ เป็นนิมิตมงคล สำหรับให้รู้ว่าหลักบ้านหลักเมืองมีอยู่ที่ไหน บ้านเมืองนั้นย่อมร่มเย็นเป็นสุข หลักเมืองต้องฝังไว้ในย่านกลางเมือง หรือในทำเลที่เป็นชัยภูมิ ตามทิศทางของเมือง และในสมัยโบราณนั้นเมืองเอกหรือเมืองชั้นราชธานี ย่อมมีฝังหลักเมืองไว้เป็นนิมิตมงคลสำหรับเมืองทุกเมือง
   
           จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ประธานชมรมสยามทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ได้พูดถึงการสร้างเสาหลักเมืองว่า คนสมัยก่อนจะถือเรื่องขวัญ ถือเรื่องของสิ่งที่จะเป็นหลักที่มั่นคง สังเกตได้ว่าจะทำการอะไรก็ต้องปักหลัก ปักฐาน ซึ่งเมืองก็เช่นเดียวกันเมื่อจะตั้งเมืองก็ต้องทำอะไรให้เป็นสัญลักษณ์เหมือนกันว่าจะทำเครื่องหมายตรงนี้ ก็จะปักหลักลงไป ซึ่งการปักหลักก็ต้องใช้สิ่งที่เห็นได้ชัด จะเอาก้อนหินวางก็กระไรอยู่ จึงต้องใช้เป็นเสา โดยนิยมใช้ต้นไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลเอามาทำเป็นหลัก อย่างไม้ชัยพฤกษ์ ชื่อเป็นมงคลดูน่าเกรงขาม
   
           ส่วนเรื่องที่มีความเชื่อกันว่า...เมื่อจะสร้างเสาหลักเมืองจะต้องทำพิธีฝังอาถรรพ์ พิธีฝังเสาหลักเมือง ด้วยการจับคน ๔ คนฝังลงไปในหลุมทั้งเป็น เพื่อให้วิญญาณของคนเหล่านั้นอยู่เฝ้าหลักเมือง เฝ้าประตูเมือง เฝ้าปราสาท คอยคุ้มครองบ้านเมือง ป้องกันอริราชศัตรูและปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บมิให้เกิดแก่คนในนคร ซึ่งเรื่องเล่านี้เป็นเพียงเรื่องเล่าสืบต่อกันมา ไม่มีบันทึกในพงศาวดาร
   
           “ในความรู้สึกของผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ คงจะเป็นเพียงเรื่องเล่ามาจากนิทานที่เล่าสืบต่อกันมา เหมือนกับการโล้ชิงช้าที่เล่ากันว่าพราหมณ์ตกลงมา ก็ฝังไว้ตรงเสาชิงช้า ซึ่งมันไม่น่าจะเป็นไปได้ คือคนเราบางทีมีความเชื่อว่า เวลาการทำอะไรสักอย่างหนึ่งก็น่าจะมีเทพารักษ์ หรือวิญญาณอย่างหนึ่ง เพื่อดูแล แต่ลองคิดดูว่า รัชกาลที่ ๑ ท่านทรงเป็นพุทธมามะกะ การที่จะประหารชีวิตคนที่ไม่มีความผิด ก็ไม่ใช่กิจที่กษัตริย์ผู้ทรงธรรมทั้งหลายจะทรงกระทำ ดังนั้นจึงเหมือนเป็นแค่เรื่องเล่าสืบต่อกันมาเท่านั้น”  จุลภัสสร...ให้ความเห็น
   
       และถ้าจะให้กล่าวถึง เสาหลักเมือง ในประเทศไทยแล้วนั้น ต้องบอกว่าไม่ว่าจังหวัดไหนล้วนแล้วแต่มีเสาหลักเมือง ศาลหลักเมืองประจำจังหวัดด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งเสาหลักเมืองในหลายๆจังหวัดนอกจากความศักดิ์สิทธิ์แล้วยังมีศิลปะและความเป็นมาที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์