สารบัญศาลหลักเมือง

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กราบสักการะศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร (Bangkok City Pillar Pay Homage)

กราบสักการะศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร 

                       บริเวณศาลหลักเมือง ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดพระแก้ว เดินข้ามถนนฝั่งตรงข้ามก็ถึงแล้วบูชาสักการะองค์พระหลักเมือง การไหว้ที่นี่นั้นต้องไหว้ถึง ๕ จุด ด้วยกัน โดยเรียงตามลำดับกันไป ดังนั้นเลยนำวิธีการไหว้ศาลหลักเมืองมาฝากค่ะ 
  
ลำดับขั้นตอนการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในศาลหลักเมือง
จุดที่ ๑.  หอพระพุทธรูป
               * กราบไหว้องค์พระพุทธรูป ถวายดอกบัว
               * ใส่บาตรพระประจำวันเกิด
จุดที่ ๒.  องค์พระหลักเมืองจำลอง
               * จุดธูป เทียน ปิดทอง ผูกผ้าแพรสี ๓ สี
จุดที่ ๓.  องค์พระหลักเมืององค์จริง
               * กราบไหว้องค์พระหลักเมืองจริงถวายพวงมาลัย ๑ พวง
จุดที่ ๔.  หอองค์เทพารักษ์ทั้ง ๕
               * กราบไหว้ถวายพวงมาลัย ๕ พวง
จุดที่ ๕.  เติมน้ำมันตะเกียง พระประจำวันเกิด
               * เติมน้ำมันตะเกียง พระประจำวันเกิด
               * เติมน้ำมันตะเกียง สะเดาะเคราะห์
เก็บภาพสวย ๆ มาฝากค่ะ ตามมากราบสักการะองค์พระหลักเมืองกันเลยค่ะ

             ก้าวแรกมาถึงก็คงต้องมองหาจุดจำหน่ายดอกไม้ ธูป เทียน ก่อนเลยค่ะ ที่บริเวณทางเข้าศาลหลักเมืองก็จะเห็นป้ายบอกว่ามีดอกไม้จำหน่ายภายในศาลหลักเมือง และมีเวลาบอกว่า ศาลหลักเมือง เปิดเวลา 06.30 น.  และปิดเวลา 18.30 น.


    เดินตรงเข้าไปภายในศาลบริเวณกลางทาง ฝั่งตรงข้ามกับจุดที่มีศาลากราบองค์พระหลักเมืองจำลอง จะเห็นจุดจำหน่ายดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าแพร และน้ำมันตะเกียง โดยมีสำนักงานกิจการศาลหลักเมือง องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นผู้ดูแล

ราคาเครื่องสักการะก็ไม่แพงค่ะ  มีราคาบอกไว้ชัดเจน 

ถ้าเอาทั้งชุดเลย ทางเจ้าหน้าที่เค้าก็จัดไว้ใส่ถาด ชุดละ ๖๐ บาทเองค่ะ  ก็จะประกอบด้วย ผ้าแพร ๓ สี - น้ำมันตะเกียง ๑ ขวด - ดอกบัว ๑ ดอก - -พวงมาลัยดอกดาวเรือง ๑ พวง - ธูปเทียนและทองคำเปลว ๑ ชุด

ได้ครบแล้ว ก็เดินไปทางเหนือเลยค่ะ ไปกราบพระที่หอพระพุทธรูปก่อนเลย  จุดนี้ให้ถวายดอกบัวเท่านั้น เอาดอกบัววางบนพานได้เลยค่ะ สวดมนต์ไหว้พระตามอัธยาศัยเลย  

ทางขวามือจะมีพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้าให้กราบสักการะด้วยเช่นกันค่ะ  

เมื่อมองไปทางขวามือก็ทำบุญตักบาตรใส่เหรียญลงในบาตรพระ ให้ตรงกับพระประจำวันเกิดของเรา


ขยับมาซ้ายนิดหนึ่งจะมีองค์พระพุทธรูปเสี่ยงทาย ให้อธิษฐานจิตตั้งสมาธิถามเรื่องที่อยากทราบได้ ๑ เรื่องนะค่ะ (ขอบอกว่าท่านศักดิ์สิทธิ์จริงๆ ค่ะ)
วิธีอธิษฐานยกองค์พระเสี่ยงทายความสำเร็จ
การยกองค์พระเสี่ยงทาย
      * ผู้ชาย  :  นั่งขัดสมาธิ  มือจับฐานพระทั้ง ๒ ข้าง  
      * ผู้หญิง :  นั่งพับเพียบ  มือซ้ายจับฐานพระ  มือขวาจับไหล่พระ
                       แล้วตั้งจิตอธิษฐานให้เป็นสมาธิ  กล่าวนะโม ๓ จบ  ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในศาลหลักเมือง  ขอพรให้การยกพระเสี่ยงทายในครั้งนี้ : จงสัมฤทธิ์ผลประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมายที่ตั้งใจไว้  
ยกครั้งที่   ๑  :  (*เรื่องที่อธิษฐานถาม*)  ถ้าประสบความสำเร็จขอให้ยกองค์พระนี้ขึ้น
ยกครั้งที่ ๒ : (*อธิษฐานถามซ้ำเรื่องเดิม*) ถ้าประสบความสำเร็จขอให้ยกองค์พระนี้ไม่ขึ้น  ถ้าเป็นไปตามนี้แสดงว่าเรื่องที่ต้องการทราบประสบความสำเร็จ

ตามคุณสมบัติของพระพุทธรูปเสี่ยงทายนี้ :  ท่านสามารถอธิษฐานถามได้ในทุกเรื่องทั้งอดีต  ปัจจุบัน  อนาคต  ธุรกิจการงาน  เคราะห์และโชคลาภ  หรือเรื่องอื่นๆ ที่ท่านปรารถนาจะถาม


           เดินลงมาข้างล่าง กราบสักการะองค์พระหลักเมืองจำลอง  จุดธูป เทียน ปิดทอง ผูกผ้าแพรสี ๓ สี ณ จุดนี้ได้เลยค่ะ 
บริเวณจุดนี้เราก็จุดเทียน ปักธูปในกระถาง และปิดทองที่องค์พระเลยค่ะ เพราะภายในศาลหลักเมืององค์จริง เค้าห้ามจุดธูป จุดเทียน และปิดทองค่ะ

คำกล่าวบูชาสักการะองค์พระหลักเมือง

ผูกผ้าแพร ๓ สี ที่จุดเสาหลักเมืองจำลอง

เสร็จแล้วเดินเข้าไปในศาลหลักเมือง เพื่อกราบสักการะองค์พระหลักเมืององค์จริง จุดนี้วางถวายพวงมาลัย ๑ พวงบนพานค่ะ

ออกจากศาลหลักเมือง ประตูทิศตะวันออก จะเห็นหอองค์เทพารักษ์ทั้ง ๕ คือ พระเสื้อเมือง, พระทรงเมือง, พระกาฬไชยศรี, เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง ให้ขึ้นไปกราบสักการะและถวายพวงมาลัย ๕ พวงวางบนพานที่ทางเจ้าหน้าที่เค้าจัดไว้ให้ค่ะ

แล้วไปเติมน้ำมันตะเกียง พระประจำวันเกิด
               * เติมน้ำมันตะเกียง พระประจำวันเกิด
               * เติมน้ำมันตะเกียง สะเดาะเคราะห์
- - มีป้ายเขียนไว้ชัดเจนเลยค่ะว่า "กรุณาเติมน้ำมันเฉพาะวันเกิดของท่านเท่านั้น"

เทน้ำมันสักครึ่งขวดก็ได้ค่ะ แล้วอีกครึ่งขวดก็นำไปเทใส่ตะเกียงสะเดาะเคราะห์ค่ะ

ส่งท้ายในจุดอื่นๆ 
                กราบสักการะพระพุทธรูปจำลององค์หลวงพ่อโสธร


               กราบสักการะพระพิฆเนศวร


                 กราบสักการะและปิดทององค์พระสยามเทวาธิราช : เจว็ดไม้แกะสลัก  จำหลักรูปเทวดายืน พระกรขวาถือจักร พระกรซ้ายถือพระขันธ์ มีซุ้มประกอบตกแต่งด้วยลายพุดตานใบเทศ  (ขนาดกว้าง ๖๕ เซนติเมตร  สูง  ๑๗๐  เซนติเมตร)  ซึ่งสันนิษฐานว่า  สร้างขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔  (ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ  พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก - รัชกาลที่ ๑)

               กราบสักการะพระคลังมหาสมบัติ  :  เจว็ดไม้แกะสลัก  จำหลักรูปเทวดายืน พระกรขวาถือดอกบัว พระกรซ้ายถือพระขันธ์   (ขนาดกว้าง ๓๖.๕ เซนติเมตร  สูง  ๕๓  เซนติเมตร)  ซึ่งสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔  (ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ  พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก - รัชกาลที่ ๑)

                บานประตูและกรอบประตูศาลหลักเมืองโบราณ  ใช้วัสดุไม้สัก  มีลักษณะเป็นบานประตูไทยแบบบานคู่  มีอกเลา  ทาสีแดงชาด    ขนาดกว้าง  ๑๔๑ เซนติเมตร  สูง ๒๓๑  เซนติเมตร , กว้าง  ๑๓๑  เซนติเมตร  สูง  ๒๑๘  เซนติเมตร , กว้าง  ๑๖๒  เซนติเมตร  สูง  ๒๑๘  เซนติเมตร  อายุราวสมัยรัตนโกสินทร์  พุทธศักราช ๒๓๙๕
                  ตามประวัติแล้วสันนิษฐานว่าเป็นบานประตูของอาคารศาลหลักเมืองที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานเสาหลักเมืองใหม่และหลักเมืองเดิมที่ชำรุด  เมื่อพุทธศักราช ๒๓๙๕  ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน  พุทธศักราช ๒๕๒๙  ได้มีการบูรณะปรับปรุงศาลหลักเมือง  จึงได้รื้อบานประตูนี้ออก  และนำไปเก็บรักษาไว้ที่แผนกโรงงานในอารักษ์  กองอาชีพ  ฝ่ายอาชีวสงเคราะห์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์  จนกระทั่งในปี พุทธศักราช ๒๕๕๘  องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเห็นว่า  บานประตูและกรอบประตูดังกล่าวเป็นสมบัติของศาลหลักเมือง  จึงนำกลับมาเก็บรักษาไว้ที่ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครไว้ดังเดิม

           และภายในศาลหลักเมืองยังมีตู้กระจกบรรจุไม้ขนุน  ที่ใช้หนุนรองรับเสาหลักเมือง  ในการประกอบพิธีเมื่อครั้งปฏิสังขรณ์  เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๗

             จุดนี้อยู่ด้านนอกศาลหลักเมืองทางทิศตะวันตก  จะมีอ่างน้ำพระพุทธมนต์  ให้ท่านสามารถนำกลับบ้านได้ด้วย

           ด้านตรงข้ามกับหอพระพุทธรูป  จะมีโรงละครประจำศาลหลักเมือง  ซึ่งจะเปิดให้ชมละครรำถวายองค์พระหลักเมือง(..ชมฟรี..)  เปิดแสดงวันจันทร์-วันเสาร์  เวลา 09.00-15.30 น.  และวันอาทิตย์  เวลา  09.00-16.00 น.   ส่วนเรื่องที่จะแสดงก็สามารถอ่านดูได้ที่กระดานดำภายในโรงละครค่ะ ว่าวันนี้มีคณะอะไรมาแสดง  ใครเป็นเจ้าภาพ  และจะแสดงเรื่องอะไร




1 ความคิดเห็น:

  1. อธิบายเป็นลำดับขั้นตอน เข้าใจง่ายดีค่ะ ชอบๆ ขอบคุณนะค่ะ

    ตอบลบ