สารบัญศาลหลักเมือง

วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เสาอินทขีล (ศาลหลักเมืองจังหวัดเชียงใหม่) (Sao Inthakhin (Chiang Mai) City Pillar Shrine)

เสาอินทขีล (ศาลหลักเมืองจังหวัดเชียงใหม่)
ณ วันเสาร์ที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙
 
เสาอินทขีล (ศาลหลักเมืองจังหวัดเชียงใหม่)
(Sao Inthakhin (Chiang Mai) City Pillar Shrine)
ปัจจุบันตั้งอยู่ ณ : ภายในบริเวณวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เลขที่ ๑๐๓ ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
 
          
            ศาลหลักเมืองจังหวัดเชียงใหม่  มีลักษณะเป็นมณฑปจตุรมุขวิหาร ศิลปะแบบล้านนาประยุกต์ ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นศิลปะล้านนา เป็นวิหารปิดแบบล้านนา  โครงสร้างวิหารมีการสร้างผนังด้านข้างทั้ง ๔ ด้าน มีประตูเข้า-ออกและช่องแสงทั้ง ๔ ด้าน  ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูนขาวกับโครงสร้างไม้ ส่วนฐานของอาคารตลอดจนถึงผนัง ก่อด้วยอิฐฉาบปูนแบบโบราณ ส่วนเครื่องบนหรือหลังคา สร้างด้วยโครงสร้างไม้ในรูปแบบเสาและคาน มีลักษณะเฉพาะเป็นเอกลักษณ์ของวิหารล้านนา เรียกว่าโครงสร้างแบบม้าต่างไหม หลังคาเป็นทรงจั่ว ประดับช่อฟ้า, ใบระกา, ส่วนปลายของปั้นลมเป็นรูปมกรคายนาค, หลังคามุงด้วยแป้นเกล็ดหางปลามน (หลังคาแผ่นไม้) 
           ปราสาทเฟื้อง เป็นองค์ประกอบตกแต่งบริเวณกึ่งกลางของสันหลังคาวิหาร ทำเป็นรูปปราสาทเรียงกัน ๗ ชั้น เชื่อว่าเป็นแนวคิดในการออกแบบที่มีการอุปมาถึง เขาสัตตบริภัณฑ์ ในเรื่องคติจักรวาล


          ภายในวิหารประดิษฐานเสาอินทขีล (เสาหลักเมืองจังหวัดเชียงใหม่)  ปัจจุบันเสาอินทขีลได้รับการบูรณะเป็นเสาอิฐก่อสอปูนติดกระจกสี ทรง ๘ เหลี่ยม วัดรอบโคนเสาได้ ๕.๖๗ เมตร วัดรอบปลายเสาได้ ๓.๔  เมตร  วัดขนาดความสูงของเสาได้ ๒.๒๗ เมตร  นับเป็นส่วนของเสาอินทขีลอย่างแท้จริง....ที่โบราณกาลได้หล่อด้วยโลหะและฝังอยู่ใต้ดิน  ซึ่งเป็นดั่งเสาหลักแห่งเมืองนครพิงค์  องค์จริงของเสาอินทขีลได้ตบแต่งประดับประดาด้วยลวดลายปูนปั้น และกระจกสี..ซึ่งได้รับการบูรณะให้สวยงามและปิดทองคำแท้ในส่วนของปูนปั้น

           เหนือเสาอินทขีลมีพระพุทธรูปทองสำริดปางรำพึง ที่พลตรีเจ้าราชบุตร (วงศ์ตะวัน ณ เชียงใหม่) นำมาถวายวัดเจดีย์หลวงเมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๑๔ ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกเหนือเสาอินทขีล  แท่นพระบนเสาอินทขีล มีขนาดความสูง ๙๗ เซนติเมตร รอบแท่นพระวัดได้ ๒.๔ เมตร  บุษบกประกอบด้วยยอดฉัตรไม้  ๕ ชั้น หลังคาบุษบก ปัญจวิมานมาศ ๕ ชั้น, นาคทัณฑ์บุษบก มุมละ ๓ ตัว มีทั้งหมด ๑๒ ตัว, เสาค้ำตัวบุษบกทั้ง ๔ ด้าน มีเพียง ๔ ต้น (เสาค้ำบุษบก ค้ำชูดวงชะตา ค้ำฟ้า คำแผ่นดิน) ซุ้มประดับหน้าบุษบก กาญจนวิจิตร เรืองรัศมี ทั้ง ๔ ทิศ (ซุ้มประดับ...ปิดทอง ทำให้ตัวบุษบกและองค์พระดูเด่น ดั่งมีรัศมีเรืองรองส่องมาจากองค์พระ), แท่นฐานบุษบก ย่อมุมไม้ ๑๒เป็นฐานของบุษบก, บัวครอบหัวเสาอินทขีล ชั้นบนทรง ๖ เหลี่ยม  (มีความสำคัญมาก เพราะเป็นส่วนที่ครอบหัวเสาอินทขีล หรือเสาหลักเมืองโบราณ ที่ก่ออิฐถือปูนและฝังลงไปในดิน...โดยครอบในส่วนบนของเสาอินทขีล นับเป็นส่วนบนสุดของเสาก่อนที่จะเป็นส่วนของบุษบก), บัวรูปใบหอกประดับรายรอบหัวเสา ๘ เหลี่ยมอยู่ทั้งสิ้น ๑๐๔ ใบ

           ภายในวิหารยังมีการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง  เป็นการเล่าตำนานของเสาอินทขีล และประวัติการสร้างพระธาตุเจดีย์ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบตำนานและประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเสาอินทขีลหรือเสาหลักเมืองเชียงใหม่
ป้ายหออินทขีล (ศาลหลักเมืองเชียงใหม่)
ภายในหออินทขีล (ศาลหลักเมืองเชียงใหม่) ที่ตกแต่งไว้อย่างสวยงาม
ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง เป็นการบอกเล่าเรื่องราวและตำนาน
ของเสาอินทขีล (
ศาลหลักเมืองเชียงใหม่)
ด้านบนเพดานแกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม
เสาอินทขีลจำลอง ด้านนอกหออินทขีลสำหรับผู้ที่มากราบไหว้สักการะได้ปิดทอง 
ป้ายคำบูชาเสาอินทขีล 
รูปปั้นจำลองพระอินทร์
รูปปั้นจำลองพระเจ้ากาวิละ
รูปปั้นจำลองพญามังรายมหาราช
(พ่อขุนเม็งรายมหาราช)
กุมภัณฑ์พญายักขราช
คอยพิทักษ์เสาอินทขิล (เสาหลักเมืองเชียงใหม่)
ศาลนี้ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของเสาอินทขิล
กุมภัณฑ์อมรเทพ
คอยพิทักษ์เสาอินทขิล (เสาหลักเมืองเชียงใหม่)
ศาลนี้ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเสาอินทขิล
นายทวารผู้ดูแลประตูทางเข้าของศาลหลักเมือง
ซุ้มประตูที่สร้างขึ้นใหม่อย่างวิจิตรสวยงามตรงกับหออินทขีล
ซุ้มประตูที่สร้างขึ้นใหม่อย่างวิจิตรสวยงามตรงกับหออินทขีล
ประวัติเสาอินทขีล (เสาหลักเมือง)
          เสาอินทขีล หรือ เสาหลักเมืองจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราช (พญามังรายมหาราช)  ปฐมกษัตริย์ทรงสถาปนา นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ในช่วงประมาณปี พุทธศักราช ๑๘๓๙  โดยตั้งแต่แรกเริ่มนั้น เสาอินทขีลได้ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารของวัดอินทขีลสะดือเมือง หรือ วัดสะดือเมือง 

          ต่อมาประมาณปี พุทธศักราช ๒๓๔๓  พระเจ้ากาวิละ  ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในสมัยนั้น  ได้ร่วมมือกับกองทัพของพระเจ้าตากสินมหาราช ทำการขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จ จากนั้นได้ฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยได้ย้ายเสาอินทขีลมาประดิษฐานอยู่ ณ วัดเจดีย์หลวง และได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทยหลังเล็กๆ ของวัดตั้งแต่นั้นมาจวบจนปัจจุบัน
 
          ในกาลต่อมา หออินทขีลได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ในปี พุทธศักราช ๒๔๙๖ ครูบาขาวปี นักบุญแห่งล้านนาไทย  จึงได้บูรณะและสร้างหออินทขีลขึ้นใหม่ ในรูปทรงหรือสถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

          ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ หออินทขีลชำรุดทรุดโทรมลงไปอย่างมาก ทางวัดเจดีย์หลวงจึงได้ขออนุญาตกรมศิลปกร ดำเนินการบูรณะให้มั่นคง แข็งแรง โดยรักษารูปทรงเดิมไว้ทุกประการ และตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นศิลปะล้านนา และได้ทำการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านในเป็นการเล่าตำนานของเสาอินทขีล และประวัติการสร้างพระธาตุเจดีย์ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบตำนานและประวัติศาสตร์การก่อสร้างเสาอินทขีล

          การดำเนินการครั้งนี้ได้รับความอุปถัมภ์จากทุกภาคส่วน ในการดำเนินการรวมถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบและบูรณะศาลกุมภัณฑ์ ทั้ง ๒ ศาลที่อยู่คู่กับหออินทขีล พร้อมทั้งได้จัดสร้างซุ้มประตู เพื่อให้ตรงกับประตูหออินทขีล และได้ดำเนินการหล่อรูปปั้นจำลองพระอินทร์, พ่อขุนเม็งรายมหาราช (พญามังรายมหาราช) และพระเจ้ากาวิละ ซึ่งเป็นผู้มีคุณูปการต่อบ้านเมืองและชาวเชียงใหม่ 

          ในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๐๙ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ ประดิษฐานบนหลังคาหออินทขีล ศาลหลักเมืองเชียงใหม่ และทรงประกอบพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลรุ่งฉลองหออินทขีล พระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธาถวายเงินบำรุงวัด โดยมีนายสุริยะ ปราสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้น เป็นผู้กราบบังคมทูลถึงประวัติและความเป็นมาของเสาอินทขีล รวมงบประมาณการดำเนินการ ทั้งสิ้น ๒๕ ล้านบาทถ้วน ใช้เวลาก่อสร้าง ๓ ปี  ตั้งแต่ปี พุทธศักราช ๒๕๕๕-๒๕๕๘

         ทุกปีในวันแรม ๑๒ ค่ำเดือน ๘ (เหนือ) หรือประมาณเดือนพฤษภาคมจะมีงาน เข้าอินทขีลเพื่อฉลองหลักเมืองเชียงใหม่


เสาอินทขีล (ศาลหลักเมืองจังหวัดเชียงใหม่)
(Sao Inthakhin (Chiang Mai) City Pillar Shrine)
ปัจจุบันตั้งอยู่ ณ : ภายในบริเวณวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
เลขที่ ๑๐๓ ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2559

ศาลหลักเมืองจังหวัดปราจีนบุรี (Prachin Buri City Pillar Shrine)

ศาลหลักเมืองจังหวัดปราจีนบุรี
ณ วันเสาร์ที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙

ศาลหลักเมืองจังหวัดปราจีนบุรี (Prachin Buri City Pillar Shrine)
          ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ : ริมแม่น้ำปราจีนบุรี (หรือแม่น้ำบางประกง) ตรงข้ามกับซอยเทศบาล ๑ ถนนปราจีนอนุสรณ์  ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี


          ศาลหลักเมืองปราจีนบุรี อาคารพระหลักเมืองก่อสร้างตามแบบของกรมศิลปากร เป็นสถาปัตยกรรมทรงไทย หลังคาจตุรมุขยอดปรางค์ หลังคาทรงไทยเป็นชั้นลด ๒ ชั้น ทรงจั่ว ๔ ด้าน หลังคามุขเป็นทรงจั่ว มุงด้วยกระเบื้องหางมนสีแดง ตรงกึ่งกลางหลังคามุขเป็นยอดปรางค์ ส่วนของยอดปรางค์ประดับฝักเพกา (ลำภุขัน) มีลักษณะคล้ายวชิราวุธอันเป็นอาวุธ ของพระอินทร์นำมาซ้อนกัน ๓ ชั้น ที่หน้าบันของมุขทั้ง ๔ ด้าน สลักไม้ปิดทองประดับกระจกเป็นลวดลายเทวดาและช่อดอกไม้ ตัวศาลถึงยอดปรางค์มีลวดลายขึ้นนูน และปั้นดินถอดพิมพ์ เช่น ช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงษ์ ลายหน้าบัน ลายบัวหัวเสา ลายบันแถลง ลายเพดาน ลายกลีบขนุน ลายกระจัง นาคปั้น เป็นต้น โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก  มีประตูเข้า-ออกทั้ง ๔ ด้าน 


           ภายในประดิษฐานเสาหลักเมือง ซึ่งมีลักษณะเป็นเสากลม ทำจากไม้มงคลชัยพฤกษ์ ฐานแกะสลักเป็นกลีบดอกบัวรองรับ ปลายยอดเสาหลักเมืองแกะสลักเป็น ๔ เศียร ๔ พักตร์อย่างสวยงาม โดยกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบและแกะสลักเสาหลักเมือง

ป้ายศาลหลักเมืองปราจีนบุรี
ศาลหลักเมืองปราจีนบุรี ด้านทิศตะวันออกติดกันลานอเนกประสงค์
อาคารสถาปัตยกรรมไทยศาลหลักเมืองปราจีนบุรี
ความสวยงามของอาคารศาลหลักเมืองปราจีนบุรีภายนอก
ทางเข้าด้านหน้าศาลหลักเมืองปราจีนบุรี
หลวงปู่ทวดภายในศาลหลักเมืองปราจีนบุรี
ฆ้องใหญ่, ตะเกียงน้ำมันภายในศาลหลักเมืองปราจีนบุรี
พระพุทธรูปภายในศาลหลักเมืองปราจีนบุรี
ประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกของศาลหลักเมืองปราจีนบุรี
ความสวยงามของเสาหลักเมืองภายในศาลหลักเมืองปราจีนบุรี
ป้ายคำบูชาพระหลักเมืองปราจีนบุรี
ความสวยงามของเพดานและยอดเสาหลักเมืองปราจีนบุรี
พระพุทธรูปปางทรงเครื่องมหาจักรพรรดิภายในศาลหลักเมืองปราจีนบุรี
คำภีร์ปรุงยาโบราณทำจากใบลานภายในศาลหลักเมืองปราจีนบุรี
เตาเผากระดาษเงินกระดาษทอง


ป้ายหน้าศาลหลักเมืองจังหวัดปราจีนบุรี

ประวัติศาลพระหลักเมืองจังหวัดปราจีนบุรี
ศาลพระหลักเมืองจังหวัดปราจีนบุรี เคยมีการก่อสร้างมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี พุทธศักราช ๒๔๑๐ โดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กรมหมื่นบวรวิเศษไชยชาญ เสด็จมาก่อสร้างป้อมและกำแพงเมืองปราจีนบุรี การก่อสร้างได้แล้วเสร็จในปี พุทธศักราช ๒๔๑๕ ตรงกับปีวอกจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๓๔ เมื่อได้ทำการก่อสร้างป้อมและกำแพงเมืองเสร็จแล้ว

ในปีเดียวกันนี้เอง (พุทธศักราช ๒๔๑๕ ) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาภูธราภัย สมุหนายกว่าการมหาดไทย ออกมาทำการก่อสร้างศาลและฝังเสาพระหลักเมืองขึ้น ณ บริเวณฝั่งทิศเหนือของแม่น้ำปราจีนบุรี ใกล้กับอาคารกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี (หลังเก่า) ทำให้ศาลพระหลักเมืองเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ และเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนจังหวัดปราจีนบุรีตั้งแต่บัดนั้น เป็นต้นมา

ต่อมา ทางราชการได้มีการโยกย้ายสถานที่ราชการและกำแพงเมืองใหม่หลายครั้ง ทำให้อาคารศาลพระหลักเมืองเดิมซึ่งเก่าแก่ทรุดโทรมลงตามกาลเวลาไปมาก  จึงได้มีการก่อสร้างศาลพระหลักเมืองใหม่อีกครั้งในปี พุทธศักราช ๒๕๑๔ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙)  ในการนั้นพลตำรวจตรีศรีศักดิ์ ธรรมรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีในขณะนั้น ได้ริเริ่มให้ทำการก่อสร้างศาลพระหลักหลังใหม่ขึ้น เพื่อให้เป็นปูชนียสถานของจังหวัดปราจีนบุรีสืบต่อไป โดยได้รับมือด้วยดีจากบรรดาข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และยังได้รับความร่วมมือจากนายฉันทิชย์ กระแสร์สินธ์ และพลตรีสมาน วีระไวทยะ ช่วยตรวจสภาพที่ก่อสร้างตามคัมภีร์นครฐาน และตรวจหามงคลดิถี เพื่อวางศิลาฤกษ์ศาลพระหลักเมือง



ศาลหลักเมืองจังหวัดปราจีนบุรี
ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ : ริมแม่น้ำปราจีนบุรี (หรือแม่น้ำบางประกง)
ตรงข้ามกับซอยเทศบาล ๑ ถนนปราจีนอนุสรณ์
  ตำบลหน้าเมือง
อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี



วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม (Samut Songkhram City Pillar Shrine)

ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
ณ  วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙


ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม (Samut Songkhram City Pillar Shrine)
        ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ : หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม ตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม
          ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทย เป็นมณฑปจตุรมุขทรงไทย ก่ออิฐฉาบปูนทาสีเหลืองทองทั้งอาคารศาล หลังคาซ้อน ๒ ชั้นยอดปรางค์  ส่วนของยอดปรางค์ประดับฝักเพกา (ลำภุขัน) มีลักษณะคล้ายวชิราวุธอันเป็นอาวุธของพระอินทร์ มีซุ้มประตูเข้า-ออกทั้ง ๔ ด้าน กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ 
           ภายในประดิษฐานเสาหลักเมือง ซึ่งมีลักษณะเป็นเสากลม ทำจากไม้มงคลชัยพฤกษ์ ฐานแกะสลักเป็นกลีบดอกบัวรองรับ หัวเสาแกะสลักเป็นดอกบัวภายในบรรจุผะอบทองคำชั้นนอกเป็นผะอบทองยอดปริก ชั้นสองผะอบซ้อนอยู่ข้างใน ชั้นในสุดผะอบทองคำสำหรับบรรจุเส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศา-เส้นผมพระมหากษัตริย์) ปลายยอดเสาหลักเมืองแกะสลักเป็น ๔ เศียร ๔ พักตร์อย่างสวยงาม โดยกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบและแกะสลักเสาหลักเมือง 
ป้ายกำแพงศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
ภูมิทัศน์ภายนอกศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม มีลักษณะเป็นเสากลม
ทำจากไม้มงคลชัยพฤกษ์ ฐานแกะสลักเป็นกลีบดอกบัวรองรับ
หัวเสาแกะสลักเป็นดอกบัว  ภายในบรรจุผะอบทองคำ
สำหรับบรรจุเส้นพระเจ้า (พระเกศาของพระมหากษัตริย์)
ปลายยอดเสาหลักเมืองแกะสลักเป็น ๔ เศียร ๔ พักตร์ 
เพดานด้านบนภายในศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
ป้ายบูชาพระหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
และคาถาบูชาองค์พระหลักเมือง

เซียมซีในศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม

ดอกไม้ ธูป-เทียน แผ่นทองคำเปลว ตะเกียงน้ำมัน
บูชาพระหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
ภายนอกอาคารศาลหลักเมืองสมุทรสงครามได้จัดสถานที่
แขวนพวงมาลัย กระถางปักธูป-เทียน
เพื่อความสะดวกของผู้มากราบสักการะ
ภูมิทัศน์ที่สวยงามภายนอกอาคารศาลหลักเมืองสมุทรสงคราม
ภูมิทัศน์ที่สวยงามภายนอกอาคารศาลหลักเมืองสมุทรสงคราม
ภูมิทัศน์ที่สวยงามภายนอกอาคารศาลหลักเมืองสมุทรสงคราม
มุมกำแพงทิศตะวันออกของศาลหลักเมือง
เป็นที่ประดิษฐานองค์พระพรหม

ตราสัญลักษณ์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม
ตราสัญลักษณ์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม
สิงห์ทองคู่บริเวณประตูทางเข้าศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
เป็นเครื่องหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง
และช่วยคุ้มครองให้ประชาชนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข
ช่วยขจัดสิ่งไม่ดีทั้งหลายให้หมดไป
ประวัติศาลหลักเมืองและหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
        ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม นี้สร้างในสมัย นายชาญ กาจนนาคพันธุ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม โดยพิจารณาเห็นว่าจังหวัดสมุทรสงครามนี้เป็นจังหวัดเก่าแก่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์หลายอย่างผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามและสภาจังหวัดลงมติเป็นเอกฉันท์ให้สร้างขึ้นเพราะถือว่า เป็นเมืองเก่าแก่ทุกแห่งจะต้องมีศาลหลักเมือง
สำหรับเมืองสมุทรสงครามนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้สอบถามไปยังกรมศิลปกรว่าเคยมีศาลหลักเมืองหรือไม่ ทางกรมศิลปากรได้ค้นหาปรากฏว่าไม่มี ทางจังหวัดจึงให้กรมศิลปากรออกแบบศาลหลักเมืองขึ้น

ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม สร้างขึ้นโดยดำริของนายชาญ  กาญจนาคพันธุ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามในสมัยนั้น โดยมีนายเทพ  สุนทรศารทูล เป็นประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ และเลขานุการคณะกรรมการศาลหลักเมือง 
ด้วยเหตุผลที่สำคัญ ๔ ประการคือ 
๑. เมืองสมุทรสงคราม ก่อตั้งเป็นบ้านเมืองมาตั้งแต่แผ่นดินของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช  จนกระทั่งบัดนี้ประมาณ ๔๐๐ ปี ยังไม่มีศาลหลักเมือง
๒. เมืองสมุทรสงคราม เป็นเมืองราชินิกุลบางช้าง และยังเป็นเมืองที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ทรงพระราชสมภพ อันเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่สำคัญของราชวงศ์จักรี  ควรจะมีศาลหลักเมืองไว้เชิดหน้าชูตาของบ้านเมือง
๓. การสร้างศาลหลักเมือง เป็นประเพณีมาแต่โบราณ  หัวเมืองที่สำคัญท่านนิยมสร้างศาลหลักเมืองไว้เป็นสัญลักษณ์ ว่าบ้านเมืองมั่นคง  ประชาชนอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข 
๔. ศาลหลักเมือง เป็นวัตถุสถานอันสำคัญ  ให้ประชาชนได้เคารพบูชาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนชาวเมืองให้มีความผูกพัน  รักใคร่ปรองดองกัน มีความสมานสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  อยู่ทำมาหากินด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  อันเป็นหลักใหญ่ของการปกครองบ้านเมืองทุกยุคทุกสมัย 

ต่อมาได้มีหนังสือราชการถึงเลขาธิการสำนักพระราชวัง ขอให้โหรสำนักพระราชวังกำหนดวันวางศิลาฤกษ์  โดย...นายเทพ สุนทรศารทูล ได้ไปติดต่อโหรสำนักพระราชวัง  โหรสำนักพระราชวังได้กำหนดวางศิลาฤกษ์ให้คือ วันที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๗  เวลา ๗.๑๖ น. เป็นปฐมฤกษ์  เวลา ๗.๔๑ น. เป็นปัจฉิมฤกษ์ ลัคนาเกาะราศีธนู เป็นมหัทโนฤกษ์  อาทิตย์ พุธ ศุกร์ กุมลัคนา อังคารกาลกินี  เป็นวินาศแก่ลัคนา อยู่ราศีพิจิก  จันทร์เป็นมหาจักร อยู่ราศีเมษ  พฤหัสบดีโยคหน้า  นับเป็นฤกษ์ดีที่สุดสัมพันธ์กับดวงเมืองของประเทศไทย สัมพันธ์กับดวงชะตาของพระมหากษัตริย์องค์ประมุขของชาติ  โดยมี ฯพณฯ พล.ต.อรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น เป็นผู้วางศิลาฤกษ์ มีสมเด็จพระธีรญาณมุนี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มีพระราชครูวามเทพมุนี เป็นประธานฝ่ายพราหมณ์โหรประจำสำนักพระราชวัง และได้ให้ฤกษ์พิธียกเสาหลักเมืองในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘  ระหว่างเวลา ๑๓.๔๔ น. ถึง ๑๔.๑๘ น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ทรงเจิมและทรงพระสุหร่ายเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

ทางจังหวัดสมุทรสงครามได้เชิญ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นผู้ยกเสาหลักเมือง เพราะทางจังหวัดมีมติว่า หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช สืบสายมาจากราชินิกุลบางช้าง ในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งทรงพระราชสมภพที่จังหวัดนี้ จึงควรที่จะเป็นผู้ทำพิธียกเสาอันเป็นหลักของบ้านเมือง

ในการยกเสาหลักเมืองในครั้งนั้น ได้จัดเป็นพิธีการยิ่งใหญ่มากมีการเสาะหาบุคคลที่มีชื่อนายอิน นายจัน นายมั่น นายคง ให้สมมุติเป็นเทวดาประจำทิศทั้งสี่ ซึ่งในสมัยโบราณที่เป็นตำนานเล่าขานว่าจะมีการฝังบุคคลที่ทำพิธีทั้ง ๔ นี้ลงใต้เสาหลักเมืองทั้ง ๔ ทิศและต้องฝังทั้งเป็นด้วย (เพื่อจะให้เป็นเทวดาประจำเมือง) มีพระสงฆ์ ๑๐๘ รูปสวดมนต์ พราหมณ์บันลือสังข์ บัณเฑาะว์ มีการรำบวงสรวง โดยคณะข้าราชการครูและประชาชน เป็นต้นว่า รำบวงสรวงชุดเทพธิดา รำบวงสรวงชุดรัตนานุภาพ รำบวงสรวงชุดเต้นรำทำตาล เพื่อให้ศาลหลักเมืองแห่งนี้เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น

เมื่องานสร้างศาลหลักเมืองใกล้จะสำเร็จเรียบร้อย  ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบหมายให้...นายเทพ  สุนทรศารทูล นำหนังสือถึงเลขาธิการสำนักพระราชวัง ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเข้าเฝ้า  เพื่อนำยอดเสาหลักเมืองถวายให้ทรงเจิมและทรงพระสุหร่าย  ตลอดจนผูกผ้าห่มสีชมพู เพื่อนำมาห่มศาลหลักเมืองด้วย

         ในการนี้ นายเทพ สุนทรศารทูล ได้เข้าพบเลขาธิการสำนักพระราชวัง ดร.กัลย์ อิสรเสนา ณ อยุธยา นำหนังสือขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อขอพระมหากรุณาธิคุณ นำยอดเสาหลักเมืองขึ้นทูลเกล้าฯ และที่สำคัญคือ ขอพระราชทานเส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศา-เส้นผมพระมหากษัตริย์) ใส่ผะอบทองบรรจุยอดเสาศาลหลักเมืองด้วย  เพราะจังหวัดสมุทรสงครามเป็นเมืองต้นกำเนิดราชินีกุลบางช้าง เป็นเมืองพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมราชพงษเชษฐมเหศวรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) อันมีความเกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์จักรี จึงขอพระมหากรุณาธิคุณเป็นกรณีพิเศษ
ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม ก่อนทำพิธีเปิด ๑ เดือน
คณะกรรมการศาลหลักเมือง เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙)
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  เพื่อทรงเจิมและทรงพระสุหร่าย
เสาหลักเมืองสมุทรสงคราม วันจันทร์ที่ ๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘
นายชาญ  กาญจนาคพันธุ์  ผู้ว่าราชการจังหวัด
เป็นประธาน ประชุมคณะกรรมการศาลหลักเมือง
การประชุมครั้งแรก ๑๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๑๗
คณะกรรมการประชุมใหญ่-ประชุมย่อยอีกหลายสิบครั้ง
กว่าจะสร้างศาลหลักเมืองเสร็จสิ้น
พิธียกเสาหลักเมืองและงานสมโภชศาลหลักเมืองสมุทรสงคราม
โหรสำนักพระราชวังวางศิลาฤกษ์ให้วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘
เวลา ๑๓. ๔๔ น.  ถึง ๑๔.๑๘ น. เป็นราชาฤกษ์
ลัคนาสถิตย์ราศีตุลย์ เป็นฤกษ์ดีที่สุด
ในพิธียกเสาหลักเมืองนี้ได้เชิญ พณฯ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ปราโมช
นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี
ผู้มาร่วมงานทยอยโปรยข้าวตอก ดอกไม้ลงในหลุมศิลาฤกษ์
ขณะที่ทุกคนกำลังโปรยข้าวตอกดอกไม้ ฝนได้โปรยปรายลงมาอย่างน่าอัศจรรย์
เป็นสัญลักษณ์แห่งความร่มเย็นเป็นสุข ทุกคนอิ่มเอมใจที่ได้มีส่วนสร้าง
ถาวรวัตถุคู่บ้านเมืองที่จะเป็นจุดรวมจิตใจ ของชาวสมุทรสงคราม
ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม
ตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม