สารบัญศาลหลักเมือง

วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เสาอินทขีล (ศาลหลักเมืองจังหวัดเชียงใหม่) (Sao Inthakhin (Chiang Mai) City Pillar Shrine)

เสาอินทขีล (ศาลหลักเมืองจังหวัดเชียงใหม่)
ณ วันเสาร์ที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙
 
เสาอินทขีล (ศาลหลักเมืองจังหวัดเชียงใหม่)
(Sao Inthakhin (Chiang Mai) City Pillar Shrine)
ปัจจุบันตั้งอยู่ ณ : ภายในบริเวณวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เลขที่ ๑๐๓ ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
 
          
            ศาลหลักเมืองจังหวัดเชียงใหม่  มีลักษณะเป็นมณฑปจตุรมุขวิหาร ศิลปะแบบล้านนาประยุกต์ ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นศิลปะล้านนา เป็นวิหารปิดแบบล้านนา  โครงสร้างวิหารมีการสร้างผนังด้านข้างทั้ง ๔ ด้าน มีประตูเข้า-ออกและช่องแสงทั้ง ๔ ด้าน  ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูนขาวกับโครงสร้างไม้ ส่วนฐานของอาคารตลอดจนถึงผนัง ก่อด้วยอิฐฉาบปูนแบบโบราณ ส่วนเครื่องบนหรือหลังคา สร้างด้วยโครงสร้างไม้ในรูปแบบเสาและคาน มีลักษณะเฉพาะเป็นเอกลักษณ์ของวิหารล้านนา เรียกว่าโครงสร้างแบบม้าต่างไหม หลังคาเป็นทรงจั่ว ประดับช่อฟ้า, ใบระกา, ส่วนปลายของปั้นลมเป็นรูปมกรคายนาค, หลังคามุงด้วยแป้นเกล็ดหางปลามน (หลังคาแผ่นไม้) 
           ปราสาทเฟื้อง เป็นองค์ประกอบตกแต่งบริเวณกึ่งกลางของสันหลังคาวิหาร ทำเป็นรูปปราสาทเรียงกัน ๗ ชั้น เชื่อว่าเป็นแนวคิดในการออกแบบที่มีการอุปมาถึง เขาสัตตบริภัณฑ์ ในเรื่องคติจักรวาล


          ภายในวิหารประดิษฐานเสาอินทขีล (เสาหลักเมืองจังหวัดเชียงใหม่)  ปัจจุบันเสาอินทขีลได้รับการบูรณะเป็นเสาอิฐก่อสอปูนติดกระจกสี ทรง ๘ เหลี่ยม วัดรอบโคนเสาได้ ๕.๖๗ เมตร วัดรอบปลายเสาได้ ๓.๔  เมตร  วัดขนาดความสูงของเสาได้ ๒.๒๗ เมตร  นับเป็นส่วนของเสาอินทขีลอย่างแท้จริง....ที่โบราณกาลได้หล่อด้วยโลหะและฝังอยู่ใต้ดิน  ซึ่งเป็นดั่งเสาหลักแห่งเมืองนครพิงค์  องค์จริงของเสาอินทขีลได้ตบแต่งประดับประดาด้วยลวดลายปูนปั้น และกระจกสี..ซึ่งได้รับการบูรณะให้สวยงามและปิดทองคำแท้ในส่วนของปูนปั้น

           เหนือเสาอินทขีลมีพระพุทธรูปทองสำริดปางรำพึง ที่พลตรีเจ้าราชบุตร (วงศ์ตะวัน ณ เชียงใหม่) นำมาถวายวัดเจดีย์หลวงเมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๑๔ ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกเหนือเสาอินทขีล  แท่นพระบนเสาอินทขีล มีขนาดความสูง ๙๗ เซนติเมตร รอบแท่นพระวัดได้ ๒.๔ เมตร  บุษบกประกอบด้วยยอดฉัตรไม้  ๕ ชั้น หลังคาบุษบก ปัญจวิมานมาศ ๕ ชั้น, นาคทัณฑ์บุษบก มุมละ ๓ ตัว มีทั้งหมด ๑๒ ตัว, เสาค้ำตัวบุษบกทั้ง ๔ ด้าน มีเพียง ๔ ต้น (เสาค้ำบุษบก ค้ำชูดวงชะตา ค้ำฟ้า คำแผ่นดิน) ซุ้มประดับหน้าบุษบก กาญจนวิจิตร เรืองรัศมี ทั้ง ๔ ทิศ (ซุ้มประดับ...ปิดทอง ทำให้ตัวบุษบกและองค์พระดูเด่น ดั่งมีรัศมีเรืองรองส่องมาจากองค์พระ), แท่นฐานบุษบก ย่อมุมไม้ ๑๒เป็นฐานของบุษบก, บัวครอบหัวเสาอินทขีล ชั้นบนทรง ๖ เหลี่ยม  (มีความสำคัญมาก เพราะเป็นส่วนที่ครอบหัวเสาอินทขีล หรือเสาหลักเมืองโบราณ ที่ก่ออิฐถือปูนและฝังลงไปในดิน...โดยครอบในส่วนบนของเสาอินทขีล นับเป็นส่วนบนสุดของเสาก่อนที่จะเป็นส่วนของบุษบก), บัวรูปใบหอกประดับรายรอบหัวเสา ๘ เหลี่ยมอยู่ทั้งสิ้น ๑๐๔ ใบ

           ภายในวิหารยังมีการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง  เป็นการเล่าตำนานของเสาอินทขีล และประวัติการสร้างพระธาตุเจดีย์ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบตำนานและประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเสาอินทขีลหรือเสาหลักเมืองเชียงใหม่
ป้ายหออินทขีล (ศาลหลักเมืองเชียงใหม่)
ภายในหออินทขีล (ศาลหลักเมืองเชียงใหม่) ที่ตกแต่งไว้อย่างสวยงาม
ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง เป็นการบอกเล่าเรื่องราวและตำนาน
ของเสาอินทขีล (
ศาลหลักเมืองเชียงใหม่)
ด้านบนเพดานแกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม
เสาอินทขีลจำลอง ด้านนอกหออินทขีลสำหรับผู้ที่มากราบไหว้สักการะได้ปิดทอง 
ป้ายคำบูชาเสาอินทขีล 
รูปปั้นจำลองพระอินทร์
รูปปั้นจำลองพระเจ้ากาวิละ
รูปปั้นจำลองพญามังรายมหาราช
(พ่อขุนเม็งรายมหาราช)
กุมภัณฑ์พญายักขราช
คอยพิทักษ์เสาอินทขิล (เสาหลักเมืองเชียงใหม่)
ศาลนี้ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของเสาอินทขิล
กุมภัณฑ์อมรเทพ
คอยพิทักษ์เสาอินทขิล (เสาหลักเมืองเชียงใหม่)
ศาลนี้ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเสาอินทขิล
นายทวารผู้ดูแลประตูทางเข้าของศาลหลักเมือง
ซุ้มประตูที่สร้างขึ้นใหม่อย่างวิจิตรสวยงามตรงกับหออินทขีล
ซุ้มประตูที่สร้างขึ้นใหม่อย่างวิจิตรสวยงามตรงกับหออินทขีล
ประวัติเสาอินทขีล (เสาหลักเมือง)
          เสาอินทขีล หรือ เสาหลักเมืองจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราช (พญามังรายมหาราช)  ปฐมกษัตริย์ทรงสถาปนา นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ในช่วงประมาณปี พุทธศักราช ๑๘๓๙  โดยตั้งแต่แรกเริ่มนั้น เสาอินทขีลได้ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารของวัดอินทขีลสะดือเมือง หรือ วัดสะดือเมือง 

          ต่อมาประมาณปี พุทธศักราช ๒๓๔๓  พระเจ้ากาวิละ  ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในสมัยนั้น  ได้ร่วมมือกับกองทัพของพระเจ้าตากสินมหาราช ทำการขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จ จากนั้นได้ฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยได้ย้ายเสาอินทขีลมาประดิษฐานอยู่ ณ วัดเจดีย์หลวง และได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทยหลังเล็กๆ ของวัดตั้งแต่นั้นมาจวบจนปัจจุบัน
 
          ในกาลต่อมา หออินทขีลได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ในปี พุทธศักราช ๒๔๙๖ ครูบาขาวปี นักบุญแห่งล้านนาไทย  จึงได้บูรณะและสร้างหออินทขีลขึ้นใหม่ ในรูปทรงหรือสถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

          ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ หออินทขีลชำรุดทรุดโทรมลงไปอย่างมาก ทางวัดเจดีย์หลวงจึงได้ขออนุญาตกรมศิลปกร ดำเนินการบูรณะให้มั่นคง แข็งแรง โดยรักษารูปทรงเดิมไว้ทุกประการ และตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นศิลปะล้านนา และได้ทำการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านในเป็นการเล่าตำนานของเสาอินทขีล และประวัติการสร้างพระธาตุเจดีย์ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบตำนานและประวัติศาสตร์การก่อสร้างเสาอินทขีล

          การดำเนินการครั้งนี้ได้รับความอุปถัมภ์จากทุกภาคส่วน ในการดำเนินการรวมถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบและบูรณะศาลกุมภัณฑ์ ทั้ง ๒ ศาลที่อยู่คู่กับหออินทขีล พร้อมทั้งได้จัดสร้างซุ้มประตู เพื่อให้ตรงกับประตูหออินทขีล และได้ดำเนินการหล่อรูปปั้นจำลองพระอินทร์, พ่อขุนเม็งรายมหาราช (พญามังรายมหาราช) และพระเจ้ากาวิละ ซึ่งเป็นผู้มีคุณูปการต่อบ้านเมืองและชาวเชียงใหม่ 

          ในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๐๙ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ ประดิษฐานบนหลังคาหออินทขีล ศาลหลักเมืองเชียงใหม่ และทรงประกอบพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลรุ่งฉลองหออินทขีล พระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธาถวายเงินบำรุงวัด โดยมีนายสุริยะ ปราสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้น เป็นผู้กราบบังคมทูลถึงประวัติและความเป็นมาของเสาอินทขีล รวมงบประมาณการดำเนินการ ทั้งสิ้น ๒๕ ล้านบาทถ้วน ใช้เวลาก่อสร้าง ๓ ปี  ตั้งแต่ปี พุทธศักราช ๒๕๕๕-๒๕๕๘

         ทุกปีในวันแรม ๑๒ ค่ำเดือน ๘ (เหนือ) หรือประมาณเดือนพฤษภาคมจะมีงาน เข้าอินทขีลเพื่อฉลองหลักเมืองเชียงใหม่


เสาอินทขีล (ศาลหลักเมืองจังหวัดเชียงใหม่)
(Sao Inthakhin (Chiang Mai) City Pillar Shrine)
ปัจจุบันตั้งอยู่ ณ : ภายในบริเวณวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
เลขที่ ๑๐๓ ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น