ศาลหลักเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา
ณ
วันอังคารที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙
ศาลหลักเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา(Chachoengsao City Pillar
Shrine)
ปัจจุบันตั้งอยู่ที่
: ริมแม่น้ำบางปะกง ข้างโรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทรา ถนนมรุพงษ์ ตำบลหน้าเมือง
อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา
อาคารศาลหลักเมืองหลังเดิม
เป็นอาคารขนาดเล็กมีสภาพชำรุดทรุดโทรม บริเวณโดยรอบมีพื้นที่จำนวน ๒ ไร่ ๒ งาน ๙๑
ตารางวา บางส่วนเป็นบ่อน้ำ คูน้ำ
มีถนนทางเข้าแคบเนื่องจากมีหน่วยงานราชการตั้งอยู่พื้นที่ด้านหน้า
จึงไม่สามารถมองเห็นอาคารศาลหลักเมืองได้เด่นชัด
ดังนั้น
นายฐิระวัตร กุลละวณิชย์
ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารศาลหลักเมืองหลังใหม่
เป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทยหลังคาทรงจตุรมุข มีประตูเข้า-ออก ๔ ทิศ หลังคาเป็นยอดปรางค์ หน้าบันแกะสลักไว้อย่างสวยงาม ขนาดของอาคารมีความกว้าง ๒๑.๕๐ เมตร ความยาว ๒๑.๕๐ เมตร
ความสูง ๒๔.๕๐ เมตร มีพื้นที่อาคารทั้งสิ้นจำนวน ๒๒๘ ตารางเมตร เสาหลักเมืองทำจากไม้มงคล ยอดเสาเป็นรูปดอกบัวตูม และได้ตกแต่งบัวฐานเสาหลักเมืองด้วยหินแกรนิต
โดยลงรักปิดทองเสาหลักเมืองต้นปัจจุบันใหม่
และยังคงอนุรักษ์เสาหลักเมืองต้นเดิมที่ทำจากไม้มะค่าใหญ่ที่ชำรุด
ไว้ด้านข้างของเสาหลักเมืองต้นปัจจุบัน
 |
ภายในศาลมีเสาหลักเมือง
๒ เสา
เสาหนึ่งเป็นเสาหลักเมืองเก่าสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๗
สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓)
อีกเสาหนึ่งเป็นเสาหลักเมืองปัจจุบันสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘
สมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)
|
ศาลหลักเมืองจังหวัดฉะเชิงเทราที่สร้างขึ้นใหม่มีสถาปัตยกรรมไทย
หลังคาทรงจตุรมุข มีประตูเข้า-ออก ๔ ทิศ ส่วนบนเป็นยอดปรางค์
ภายในศาลมีเสาหลักเมือง ๒ เสา เสาหนึ่งเป็นเสาหลักเมืองเก่า
สร้างเมื่อ พุทธศักราช ๒๓๗๗ อีกเสาหนึ่งเป็นเสาหลักเมืองปัจจุบัน
สร้างเมื่อ พุทธศักราช ๒๔๓๘ นอกจากนั้นภายในบริเวณศาลหลักเมืองฉะเชิงเทรายังมีศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
ตั้งอยู่เยื้องด้านหน้าศาลหลักเมือง ซึ่งมีศิลปะแบบจีน
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองฉะเชิงเทรานั้นเป็นที่เคารพสักการะของชาวฉะเชิงเทราเป็นอย่างมาก
 |
ศาลหลักเมืองฉะเชิงเทราและศาลเจ้าพ่อหลักเมือง |
ประวัติศาลหลักเมืองฉะเชิงเทรา
ในอดีตนั้น
"เมืองฉะเชิงเทรา" เป็นหัวเมืองฝั่งตะวันออกมาตั้งแต่ครั้งเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี
เดิมตั้งอยู่ที่บริเวณปากน้ำเจ้าโล้ (ซึ่งในปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ คือปากคลองท่าลาด
อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา)
เป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์มากตามคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่ามีปลาช่อนชุกชุมและมีลำตัวขนาดใหญ่
เมื่อนำไปแล่เนื้อทำเป็นปลาแห้ง สามารถแล่ได้ถึงแปดริ้ว
ชาวบ้านจึงเรียกชื่อเมืองนี้ว่า "เมืองแปดริ้ว"
ครั้นสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๓๗๖-๒๓๙๐ ไทยกับญวนเกิดข้อพิพาท
แย่งชิงอำนาจการปกครองในเขมรจนลุกลามเป็นสงคราม
“อานามสยามยุทธ” เมืองฉะเชิงเทราจึงเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในการป้องกันราชธานี
จากการรุกรานของญวน ดังนั้นหลังจากเกิดสงครามได้หนึ่งปี พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐมหาเจษฎาบดินทร พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมหาเจษฎาราชเจ้า (รัชกาลที่ ๓) แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ
โปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงรักษ์รณเรศ เป็นแม่กองย้ายที่ว่าการเมืองฉะเชิงเทราจากปากแม่น้ำเจ้าโล้มาตั้งใหม่ที่บ้านท่าไข่
แขวงเมืองฉะเชิงเทรา ติดบริเวณริมแม่น้ำบางปะกง และให้สร้างป้อมกำแพงเมืองขึ้น
เพื่อป้องกันศัตรู พร้อมทั้งมีการสร้างเสาหลักเมืองจังหวัดฉะเชิงเทราขึ้นเป็นครั้งแรก
ในปีพุทธศักราช ๒๓๗๗ เชื่อกันว่าเป็นที่สถิตของจิตวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์แห่งแผ่นดินฉะเชิงเทรา
เพื่อคุ้มครองบ้านเมืองและประชาราษฎร์ให้พ้นจากภัยสงครามและอันตรายทั้งปวง
ต่อมาในปีพุทธศักราช
๒๔๓๘ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช (รัชกาลที่ ๕)
แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ เสาหลักเมืองที่ตั้งไว้แต่เดิมสมัยสร้างเมืองเมื่อพุทธศักราช
๒๓๗๗ ได้ชำรุดผุขาดลงไปอย่างมาก พระยาวิเศษฤาชัย (ช้าง) เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา
พร้อมด้วยพระเกรียงไกรขบวนยุทธ (เสือ)
ปลัดเมืองผู้เป็นน้องชายจึงได้ตัดต้นไม้มะค่าใหญ่วัดรอบได้ ๔ กำ ยาว ๖ ศอก
มาเปลี่ยนแทนเสาหลักเมืองเดิมที่ชำรุดพร้อมทั้งมีการบำเพ็ญกุศล และสมโภชในการยกเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ ๑๖
กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๔ (พุทธศักราช ๒๔๓๘)
แต่อาคารศาลหลักเมืองยังคงเป็นอาคารขนาดเล็กไม่สง่างามสมกับเป็นที่ประดิษฐานตั้งหลักเมืองอันศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพบูชาของชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา
ในปีพุทธศักราช
๒๕๔๐ นายฐิระวัตร กุลละวณิชย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเสาหลักเมืองจังหวัดฉะเชิงเทราใหม่
พร้อมทั้งได้ขยายอาณาบริเวณพื้นที่โดยรอบและปรับปรุงตกแต่งพื้นที่เป็นสวน โดยใช้เงินจากการจัดงานประเพณีนมัสการหลวงพ่อพระพุทธโสธรและงานกาชาดจังหวัดฉะเชิงเทราประจำปี
เป็นเงินทั้งสิ้น ๑๗,๕๐๐,๐๐๐ บาท (สิบเจ็ดล้านห้าแสนบาทถ้วน)
โดยมิได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใด
งานก่อสร้างอาคารศาลหลักเมืองและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบเสร็จเรียบร้อย
เมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๒
และเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม
พุทธศักราช ๒๕๔๒
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙)
ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีสมโภชศาลหลักเมือง
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๒
 |
ป้ายคาถาบูชาสักการะองค์พระหลักเมือง |
 |
หลังคาทรงจตุรมุขและยอดพระปรางค์ของศาลหลักเมืองที่สวยงาม |
 |
ตุ๊กตาไก่ปูนปั้นที่ผู้ศรัทธาองค์พระหลักเมืองนำมาถวาย |
 |
ประตูทางเข้า-ออก ทั้ง ๔ ทิศของศาลหลักเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา |
 |
ความสวยงามของสถาปัตยกรรมไทย ณ ศาลหลักเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา |
 |
ความสวยงามของสถาปัตยกรรมไทย ณ ศาลหลักเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา |
 |
ความสวยงามของสถาปัตยกรรมไทย ณ ศาลหลักเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา |
 |
ศาลหลักเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ : ริมแม่น้ำบางปะกง ข้างโรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทรา ถนนมรุพงษ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา |
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง (องค์เจ้าพ่อเซี่ยงกง)
ตั้งอยู่เยื้องด้านหน้าศาลหลักเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีศิลปะแบบจีนที่สวยงาม
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองฉะเชิงเทรานั้น
เป็นที่เคารพสักการะของชาวฉะเชิงเทราเป็นอย่างมาก
 |
บริเวณด้านหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา จะมีป้ายบอกให้จุดธูปและไหว้เป็นจุด ๆ ไป |
 |
บริเวณทางเข้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา เข้าไปกราบท่านตามจุดต่าง ๆ ที่ป้ายเขียนบอกไว้ได้เลยค่ะ |
 |
บริเวณจุดที่ ๑ ไหว้เทพยดาฟ้าดิน (ลีกง) ณ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา |
 |
บริเวณจุดที่ ๒ ไหว้องค์เจ้าพ่อเซี่ยงกง (เจ้าพ่อหลักเมือง)
บริเวณจุดที่ ๓ ไหว้ลูกศิษย์เจ้าพ่อหลักเมือง (กุมารทอง)
บริเวณจุดที่ ๔ ไหว้ลูกศิษย์เจ้าพ่อหลักเมือง (เจ้าพ่อหนูแดง)
ณ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา
|
 |
ไหว้องค์เจ้าพ่อเซี่ยงกง (เจ้าพ่อหลักเมือง)
ภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา |
 |
องค์เจ้าพ่อเซี่ยงกง (เจ้าพ่อหลักเมือง) |
 |
ความสวยงามของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดฉะเชิงเทราและภูมิทัศน์โดยรอบ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น