สารบัญศาลหลักเมือง

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม (Samut Songkhram City Pillar Shrine)

ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
ณ  วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙


ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม (Samut Songkhram City Pillar Shrine)
        ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ : หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม ตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม
          ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทย เป็นมณฑปจตุรมุขทรงไทย ก่ออิฐฉาบปูนทาสีเหลืองทองทั้งอาคารศาล หลังคาซ้อน ๒ ชั้นยอดปรางค์  ส่วนของยอดปรางค์ประดับฝักเพกา (ลำภุขัน) มีลักษณะคล้ายวชิราวุธอันเป็นอาวุธของพระอินทร์ มีซุ้มประตูเข้า-ออกทั้ง ๔ ด้าน กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ 
           ภายในประดิษฐานเสาหลักเมือง ซึ่งมีลักษณะเป็นเสากลม ทำจากไม้มงคลชัยพฤกษ์ ฐานแกะสลักเป็นกลีบดอกบัวรองรับ หัวเสาแกะสลักเป็นดอกบัวภายในบรรจุผะอบทองคำชั้นนอกเป็นผะอบทองยอดปริก ชั้นสองผะอบซ้อนอยู่ข้างใน ชั้นในสุดผะอบทองคำสำหรับบรรจุเส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศา-เส้นผมพระมหากษัตริย์) ปลายยอดเสาหลักเมืองแกะสลักเป็น ๔ เศียร ๔ พักตร์อย่างสวยงาม โดยกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบและแกะสลักเสาหลักเมือง 
ป้ายกำแพงศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
ภูมิทัศน์ภายนอกศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม มีลักษณะเป็นเสากลม
ทำจากไม้มงคลชัยพฤกษ์ ฐานแกะสลักเป็นกลีบดอกบัวรองรับ
หัวเสาแกะสลักเป็นดอกบัว  ภายในบรรจุผะอบทองคำ
สำหรับบรรจุเส้นพระเจ้า (พระเกศาของพระมหากษัตริย์)
ปลายยอดเสาหลักเมืองแกะสลักเป็น ๔ เศียร ๔ พักตร์ 
เพดานด้านบนภายในศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
ป้ายบูชาพระหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
และคาถาบูชาองค์พระหลักเมือง

เซียมซีในศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม

ดอกไม้ ธูป-เทียน แผ่นทองคำเปลว ตะเกียงน้ำมัน
บูชาพระหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
ภายนอกอาคารศาลหลักเมืองสมุทรสงครามได้จัดสถานที่
แขวนพวงมาลัย กระถางปักธูป-เทียน
เพื่อความสะดวกของผู้มากราบสักการะ
ภูมิทัศน์ที่สวยงามภายนอกอาคารศาลหลักเมืองสมุทรสงคราม
ภูมิทัศน์ที่สวยงามภายนอกอาคารศาลหลักเมืองสมุทรสงคราม
ภูมิทัศน์ที่สวยงามภายนอกอาคารศาลหลักเมืองสมุทรสงคราม
มุมกำแพงทิศตะวันออกของศาลหลักเมือง
เป็นที่ประดิษฐานองค์พระพรหม

ตราสัญลักษณ์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม
ตราสัญลักษณ์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม
สิงห์ทองคู่บริเวณประตูทางเข้าศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
เป็นเครื่องหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง
และช่วยคุ้มครองให้ประชาชนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข
ช่วยขจัดสิ่งไม่ดีทั้งหลายให้หมดไป
ประวัติศาลหลักเมืองและหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
        ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม นี้สร้างในสมัย นายชาญ กาจนนาคพันธุ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม โดยพิจารณาเห็นว่าจังหวัดสมุทรสงครามนี้เป็นจังหวัดเก่าแก่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์หลายอย่างผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามและสภาจังหวัดลงมติเป็นเอกฉันท์ให้สร้างขึ้นเพราะถือว่า เป็นเมืองเก่าแก่ทุกแห่งจะต้องมีศาลหลักเมือง
สำหรับเมืองสมุทรสงครามนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้สอบถามไปยังกรมศิลปกรว่าเคยมีศาลหลักเมืองหรือไม่ ทางกรมศิลปากรได้ค้นหาปรากฏว่าไม่มี ทางจังหวัดจึงให้กรมศิลปากรออกแบบศาลหลักเมืองขึ้น

ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม สร้างขึ้นโดยดำริของนายชาญ  กาญจนาคพันธุ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามในสมัยนั้น โดยมีนายเทพ  สุนทรศารทูล เป็นประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ และเลขานุการคณะกรรมการศาลหลักเมือง 
ด้วยเหตุผลที่สำคัญ ๔ ประการคือ 
๑. เมืองสมุทรสงคราม ก่อตั้งเป็นบ้านเมืองมาตั้งแต่แผ่นดินของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช  จนกระทั่งบัดนี้ประมาณ ๔๐๐ ปี ยังไม่มีศาลหลักเมือง
๒. เมืองสมุทรสงคราม เป็นเมืองราชินิกุลบางช้าง และยังเป็นเมืองที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ทรงพระราชสมภพ อันเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่สำคัญของราชวงศ์จักรี  ควรจะมีศาลหลักเมืองไว้เชิดหน้าชูตาของบ้านเมือง
๓. การสร้างศาลหลักเมือง เป็นประเพณีมาแต่โบราณ  หัวเมืองที่สำคัญท่านนิยมสร้างศาลหลักเมืองไว้เป็นสัญลักษณ์ ว่าบ้านเมืองมั่นคง  ประชาชนอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข 
๔. ศาลหลักเมือง เป็นวัตถุสถานอันสำคัญ  ให้ประชาชนได้เคารพบูชาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนชาวเมืองให้มีความผูกพัน  รักใคร่ปรองดองกัน มีความสมานสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  อยู่ทำมาหากินด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  อันเป็นหลักใหญ่ของการปกครองบ้านเมืองทุกยุคทุกสมัย 

ต่อมาได้มีหนังสือราชการถึงเลขาธิการสำนักพระราชวัง ขอให้โหรสำนักพระราชวังกำหนดวันวางศิลาฤกษ์  โดย...นายเทพ สุนทรศารทูล ได้ไปติดต่อโหรสำนักพระราชวัง  โหรสำนักพระราชวังได้กำหนดวางศิลาฤกษ์ให้คือ วันที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๗  เวลา ๗.๑๖ น. เป็นปฐมฤกษ์  เวลา ๗.๔๑ น. เป็นปัจฉิมฤกษ์ ลัคนาเกาะราศีธนู เป็นมหัทโนฤกษ์  อาทิตย์ พุธ ศุกร์ กุมลัคนา อังคารกาลกินี  เป็นวินาศแก่ลัคนา อยู่ราศีพิจิก  จันทร์เป็นมหาจักร อยู่ราศีเมษ  พฤหัสบดีโยคหน้า  นับเป็นฤกษ์ดีที่สุดสัมพันธ์กับดวงเมืองของประเทศไทย สัมพันธ์กับดวงชะตาของพระมหากษัตริย์องค์ประมุขของชาติ  โดยมี ฯพณฯ พล.ต.อรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น เป็นผู้วางศิลาฤกษ์ มีสมเด็จพระธีรญาณมุนี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มีพระราชครูวามเทพมุนี เป็นประธานฝ่ายพราหมณ์โหรประจำสำนักพระราชวัง และได้ให้ฤกษ์พิธียกเสาหลักเมืองในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘  ระหว่างเวลา ๑๓.๔๔ น. ถึง ๑๔.๑๘ น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ทรงเจิมและทรงพระสุหร่ายเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

ทางจังหวัดสมุทรสงครามได้เชิญ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นผู้ยกเสาหลักเมือง เพราะทางจังหวัดมีมติว่า หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช สืบสายมาจากราชินิกุลบางช้าง ในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งทรงพระราชสมภพที่จังหวัดนี้ จึงควรที่จะเป็นผู้ทำพิธียกเสาอันเป็นหลักของบ้านเมือง

ในการยกเสาหลักเมืองในครั้งนั้น ได้จัดเป็นพิธีการยิ่งใหญ่มากมีการเสาะหาบุคคลที่มีชื่อนายอิน นายจัน นายมั่น นายคง ให้สมมุติเป็นเทวดาประจำทิศทั้งสี่ ซึ่งในสมัยโบราณที่เป็นตำนานเล่าขานว่าจะมีการฝังบุคคลที่ทำพิธีทั้ง ๔ นี้ลงใต้เสาหลักเมืองทั้ง ๔ ทิศและต้องฝังทั้งเป็นด้วย (เพื่อจะให้เป็นเทวดาประจำเมือง) มีพระสงฆ์ ๑๐๘ รูปสวดมนต์ พราหมณ์บันลือสังข์ บัณเฑาะว์ มีการรำบวงสรวง โดยคณะข้าราชการครูและประชาชน เป็นต้นว่า รำบวงสรวงชุดเทพธิดา รำบวงสรวงชุดรัตนานุภาพ รำบวงสรวงชุดเต้นรำทำตาล เพื่อให้ศาลหลักเมืองแห่งนี้เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น

เมื่องานสร้างศาลหลักเมืองใกล้จะสำเร็จเรียบร้อย  ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบหมายให้...นายเทพ  สุนทรศารทูล นำหนังสือถึงเลขาธิการสำนักพระราชวัง ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเข้าเฝ้า  เพื่อนำยอดเสาหลักเมืองถวายให้ทรงเจิมและทรงพระสุหร่าย  ตลอดจนผูกผ้าห่มสีชมพู เพื่อนำมาห่มศาลหลักเมืองด้วย

         ในการนี้ นายเทพ สุนทรศารทูล ได้เข้าพบเลขาธิการสำนักพระราชวัง ดร.กัลย์ อิสรเสนา ณ อยุธยา นำหนังสือขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อขอพระมหากรุณาธิคุณ นำยอดเสาหลักเมืองขึ้นทูลเกล้าฯ และที่สำคัญคือ ขอพระราชทานเส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศา-เส้นผมพระมหากษัตริย์) ใส่ผะอบทองบรรจุยอดเสาศาลหลักเมืองด้วย  เพราะจังหวัดสมุทรสงครามเป็นเมืองต้นกำเนิดราชินีกุลบางช้าง เป็นเมืองพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมราชพงษเชษฐมเหศวรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) อันมีความเกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์จักรี จึงขอพระมหากรุณาธิคุณเป็นกรณีพิเศษ
ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม ก่อนทำพิธีเปิด ๑ เดือน
คณะกรรมการศาลหลักเมือง เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙)
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  เพื่อทรงเจิมและทรงพระสุหร่าย
เสาหลักเมืองสมุทรสงคราม วันจันทร์ที่ ๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘
นายชาญ  กาญจนาคพันธุ์  ผู้ว่าราชการจังหวัด
เป็นประธาน ประชุมคณะกรรมการศาลหลักเมือง
การประชุมครั้งแรก ๑๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๑๗
คณะกรรมการประชุมใหญ่-ประชุมย่อยอีกหลายสิบครั้ง
กว่าจะสร้างศาลหลักเมืองเสร็จสิ้น
พิธียกเสาหลักเมืองและงานสมโภชศาลหลักเมืองสมุทรสงคราม
โหรสำนักพระราชวังวางศิลาฤกษ์ให้วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘
เวลา ๑๓. ๔๔ น.  ถึง ๑๔.๑๘ น. เป็นราชาฤกษ์
ลัคนาสถิตย์ราศีตุลย์ เป็นฤกษ์ดีที่สุด
ในพิธียกเสาหลักเมืองนี้ได้เชิญ พณฯ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ปราโมช
นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี
ผู้มาร่วมงานทยอยโปรยข้าวตอก ดอกไม้ลงในหลุมศิลาฤกษ์
ขณะที่ทุกคนกำลังโปรยข้าวตอกดอกไม้ ฝนได้โปรยปรายลงมาอย่างน่าอัศจรรย์
เป็นสัญลักษณ์แห่งความร่มเย็นเป็นสุข ทุกคนอิ่มเอมใจที่ได้มีส่วนสร้าง
ถาวรวัตถุคู่บ้านเมืองที่จะเป็นจุดรวมจิตใจ ของชาวสมุทรสงคราม
ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม
ตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม

วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสาคร (Samut Sakhon City Pillar Shrine)

ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสาคร
เสาหลักเมืองจังหวัดสมุทรสาครเป็นเสาหลักเมืองที่สูงที่สุดในประเทศไทย
ณ  วันพุธที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙
ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสาคร (Samut Sakhon City Pillar Shrine)

ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสาคร (Samut Sakhon City Pillar Shrine)
        ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ : ด้านหลังศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร (เจ้าพ่อวิเชียรโชติ) ใกล้ป้อมวิเชียรโชฎก ริมคลองมหาชัย ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสาคร (Samut Sakhon City Pillar Shrine)

        ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสาคร เป็นมณฑป ๒ ชั้น จตุรมุขทรงไทย หลังคาเป็นยอดปรางค์ มีซุ้มประตูเข้า-ออกทั้ง ๔ ด้าน บนฐานสูงขึ้นไปมีบันไดทางขึ้น-ลงชั้นบน ๓ ด้าน ส่วนของอาคารด้านทิศเหนือเป็นที่ตั้งของศาลพระสังกัจจายน์ กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ ให้มีขนาดกว้าง ๓๐.๘๐ เมตร  ยาว ๓๐.๘๐ เมตร สูง ๑๙.๐๐ เมตร 


        ภายในประดิษฐานเสาหลักเมือง ซึ่งมีลักษณะเป็นเสากลม ทำจากไม้ชัยพฤกษ์ ฐานแกะสลักเป็นดอกบัวรองรับ หัวเสาแกะเป็นลูกบัวแก้ว โดยกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบและแกะสลักเสาหลักเมือง ซึ่งมีขนาดความสูงจากพื้นชั้นล่างถึงยอดเสาหลักเมืองชั้นบน ๗.๘๐ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๐.๕๐ เมตร
เสาหลักเมืองจังหวัดสมุทรสาคร เป็นเสาหลักเมืองที่สูงที่สุดในประเทศไทย
ส่วนของยอดเสาหลักเมืองอาคารด้านบน
ของศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสาคร
ส่วนของฐานเสาหลักเมืองอาคารชั้นล่าง
ของศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสาคร
เต่าบูชาภายในอาคารชั้นล่างศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสาคร
อาคารชั้นบนทางด้านทิศเหนือของศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสาคร
เป็นที่ตั้งของศาลพระสังกัจจายน์


บันไดทางขึ้นอาคารชั้นบนบริเวณศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสาคร
ด้านทิศตะวันตกติดป้อมวิเชียรโชฎก

ประตูทางเข้าบริเวณศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสาคร
ด้านทิศตะวันออกติดสวนสาธารณะ
 ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสาคร ปัจจุบันตั้งอยู่ที่
ด้านหลังศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร (เจ้าพ่อวิเชียรโชติ)
ใกล้ป้อมวิเชียรโชฎก ริมคลองมหาชัย
ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

ประวัติศาลหลักเมืองและหลักเมืองจังหวัดสมุทรสาคร
ด้วยจังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดเก่าแก่ที่มีอายุยืนนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ในอดีตสมุทรสาครเป็นหัวเมืองสำหรับเรียกระดมพลเวลาเกิดสงครามและเป็นเมืองหน้าด่านสำหรับป้องกันศัตรูที่จะมารุกรานทางทะเล  สมุทรสาครจึงเป็นเมืองที่สำคัญยิ่งอีกเมืองหนึ่งของประเทศไทย 

แต่จากการศึกษาค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ กลับไม่ปรากฎว่าจังหวัดสมุทรสาคร มีหรือเคยมีหลักเมืองดังเช่นจังหวัดสำคัญอื่น ๆ ซึ่งการสร้างหลักเมืองก็มีประเพณีมาตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัย  กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์  เพราะถือว่าเป็นการสร้างบ้านเมืองจะต้องทำพิธีอย่างหนึ่งคือ  การสร้างหลักเมืองควบคู่กันไปด้วย  ทั้งนี้  ก็เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ประชาชนทั่วไป  โดยเชื่อว่าหลักเมืองมีเทพยดาสิงสถิตย์คอยปกปักษ์รักษาและมีอานุภาพที่จะดลบันดาลให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข  มีความรุ่งเรืองสถาพรตลอดกาลปาวสาน

การสร้างศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสาครแทนศาลเดิม เกิดขึ้นเมื่อประมาณ ปี พุทธศักราช ๒๔๖๐-๒๔๖๑ โดยพระยาสาครคณาถิรักษ์ (เจ้าเมืองสมุทรสาคร) หลวงอนุรักษ์นฤผดุง (นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร) และขุนสมุทรมณีรัตน์ (กำนันตำบลท่าฉลอม) ได้ดำเนินการบอกบุญขอรับบริจาคจากชาวสมุทรสาคร และผู้มีจิตศรัทธา จนสามารถรวบรวมเงินทุนสร้างศาลขึ้นมาใหม่ ตามแบบที่ขอมาจากกรมศิลปากร แต่การก่อสร้างศาลครั้งนั้นไม่สำเร็จสมบูรณ์ ยังขาดช่อฟ้า ใบระกา เนื่องจากเงินทุนที่ประชาชนบริจาคไม่เพียงพอ
ดังนั้นอีกสองปีต่อมา ขุนสมุทรมณีรัตน์ ขุนเชิดมหาชัย และนายยงกุ่ย หทัยธรรม ทั้งสามท่านจึงร่วมกันออกเงินส่วนที่เหลือ จนสร้างศาลเสร็จเรียบร้อย สำหรับการก่อสร้างครั้งนี้ นายจาด แนวสิงโต ช่างประจำวัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับจ้างในวงเงิน ๑,๘๐๐ บาท โดยจัดทำช่อฟ้า ใบระกา สลักจั่ว ประดับกระจกปั้นที่ปลายเสา และสร้างทุ่นท่าน้ำ ตลอดจนถนนจากหน้าศาลถึงสะพานทุ่น

ส่วนแท่นบูชาเจ้าพ่อหลักเมืองจัดสร้างเมื่อ พุทธศักราช ๒๔๗๒ โดยนายเทียม นางกิเน้ย เทียนผาสุก ชาวประมงตำบลท่าฉลอมเป็นผู้ว่าจ้างช่างจีน ชื่อนายกวง แซ่โค้ว ให้เป็นผู้แกะสลักและประดิษฐานภายในศาล เมื่อการก่อสร้างศาลเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทางราชการให้ขุนสมุทรมณีรัตน์เป็นประธาน ประกอบด้วยกรรมการจากฝ่ายราชการ พ่อค้า คหบดี ในจังหวัดสมุทรสาคร เป็นผู้ควบคุมดูแลกิจการของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร

ต่อมาในสมัยของ หม่อมหลวงชินชัย  กำภู  ได้มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร  เมื่อวันที่ ๑  ตุลาคม  พุทธศักราช ๒๕๒๒  จึงได้มีดำริที่จะสร้างและปรับปรุงหลักเมืองใหม่  ประกอบกับประชาชนในจังหวัดสมุทรสาครก็ต้องการให้มีขึ้นเพื่อเป็นที่เคารพบูชายึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน  ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครจึงได้นำเรื่องการสร้างศาลหลักเมืองและเสาหลักเมืองเข้าปรึกษาหารือกับคณะสงฆ์  ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนแล้วต่างก็เห็นพ้องตรงกันและมีมติให้จังหวัดสร้างเสาหลักเมืองและศาลหลักเมืองตามประเพณีนิยม

ในปี พุทธศักราช ๒๕๒๔ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร (หม่อมหลวงชินชัย  กำภู) ร่วมกับข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และคณะสงฆ์ ได้สรรหาไม้มงคลมาทำเสาหลักเมือง ก็ได้ไม้ชัยพฤกษ์ มาจากท้องที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และจากอำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี โดยกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบและแกะสลักเสาหลักเมือง ซึ่งมีขนาดสูง ๗.๘๐ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๐.๕๐ เมตร เมื่อจัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครและคณะกรรมการอำนวยการ  ได้นำขึ้นน้อมเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) เพื่อทรงพระสุหร่าย ทรงเจิม เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๒๔  เวลา ๑๕.๓๐ น.  ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  พระราชวังดุสิต

ส่วนศาลหลักเมือง กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ ให้มีขนาดกว้าง ๓๐.๘๐ เมตร  ยาว ๓๐.๘๐ เมตร สูง ๑๙.๐๐ เมตร  และได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๕ ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๙ เวลา ๐๙.๔๙ น. โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอกสิทธิ  จิรโรจน์  เป็นประธาน และห้างหุ้นส่วนจำกัด เลิศ เอนจิเนียริ่ง  เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างในงบประมาณการก่อสร้าง ๖,๕๗๑,๓๓๙ บาท  สร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๕

สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิดศาลหลักเมือง เมื่อในวันที่ ๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๖  ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๕ ค่ำเดือน ๔ เวลา ๑๑.๑๙ น.
ศาลพระสังกัจจายน์ 
ส่วนบนของอาคารศาลหลักเมืองสมุทรสาคร ทางด้านทิศเหนือ เป็นที่ตั้งของศาลพระสังกัจจายน์ มีลักษณะเป็นมณฑปทรงจตุรมุข จึงเป็นเหตุที่ต้องสร้างบันไดทางขึ้นลงศาลหลักเมืองเพียง ๓ ด้าน

ศาลพระสังกัจจายน์  เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระพุทธชินราช, หลวงพ่อโสธร, องค์พระโพธิสัตว์กวนอิม, องค์พระสังกัจจายน์  และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกหลายองค์
พระพุทธรูปพระพุทธชินราช, หลวงพ่อโสธร
พระแก้วมรกต (องค์จำลอง)
หลวงปู่ทวด (องค์จำลอง)
เซียมซี - ใบเซียมซี ภายในศาลพระสังกัจจายน์
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร (เจ้าพ่อวิเชียรโชติ)

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร หลังปัจจุบันสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๓๐ เป็นอาคารเก๋งจีน ที่มีความสวยงามกว่าหลังเดิม พร้อมตกแต่งอาคารทั้งภายในและภายนอกอาคารด้วยศิลปะแบบจีน ภายในยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ อีกหลายองค์ เช่น พระพุทธรูปหลวงพ่อโสธร องค์จตุคาม-รามเทพ พระสังกัจจายน์ หลวงปู่ทวด
เจ้าพ่อหลักเมือง (เจ้าพ่อวิเชียรโชติ) เป็นแผ่นไม้รูปเจว็ดแกะสลักด้วยไม้โพธิ์ ขนาดความสูงประมาณ ๑ เมตร กว้างประมาณ ๑ ศอกเศษ เรียกว่า เทพเจ้าจอมเมือง เป็นรูปเทวดาหัตถ์ขวายกประทานพร หัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์ อยู่ในท่าประทับยืนบนเกี้ยว มีกุมารน้อย ๒ คน เป็นบริวารอยู่ด้านข้าง ปิดทับด้วยทองคำเปลวบริสุทธิ์ไปอีกชั้นหนึ่ง

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร หลังปัจจุบันเป็นอาคารเก๋งจีน
ที่มีความสวยงามพร้อมตกแต่งอาคารทั้งภายในและภายนอกอาคาร
ด้วยศิลปะแบบจีน
ด้านหลังอาคารศาลทีกง (เทพยดาฟ้าดิน)
องค์จำลองเจ้าพ่อหลักเมือง (เจ้าพ่อวิเชียรโชติ)
เป็นแผ่นไม้รูปเจว็ด เป็นรูปเทวดาหัตถ์ขวายกประทานพร
หัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์ อยู่ในท่าประทับยืนบนเกี้ยว
มีกุมารน้อย ๒ คน เป็นบริวารอยู่ด้านข้าง
ภายในเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์-พระพุทธรูปหลวงพ่อโสธร
หลวงปู่ทวด และป้ายคาถาบูชาหลวงปู่ทวด
ภายในเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปหลวงพ่อโสธร
องค์จตุคาม-รามเทพ-พระสังกัจจายน์ 
และศาลท่านเจ้าที่
 จุดเติมน้ำมันตะเกียงประจำวันเกิด
หน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง (เจ้าพ่อวิเชียรโชติ)
 ตะเกียงน้ำมัน - อ่างน้ำมนต์

โคมไฟศิลปะแบบจีนบริเวณทางเข้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง  (เจ้าพ่อวิเชียรโชติ)
และเตาเผากระดาษเงินกระดาษทอง ที่อยู่ข้างป้อมปืนใหญ่ (วิเชียรโชฎก)
อาคารด้านหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง (เจ้าพ่อวิเชียรโชติ)
ภายในบริเวณป้อมวิเชียรโชฏก ริมคลองมหาชัย
ด้านหลังเป็นอาคารศาลหลักเมือง
ประวัติความเป็นมาของเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร
มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า แผ่นไม้สลักนี้ลอยน้ำผ่านคลองมหาชัย ชาวบ้านที่อยู่บริเวณนี้ได้อัญเชิญขึ้นมาสักการะ แล้วสร้างเพิงหลังคามุงจากหลังเล็กๆ ให้ผู้คนที่ผ่านไปมาทั้งทางน้ำ และทางบก ได้สักการะบูชา เมื่อมีผู้มาบูชาบนบานศาลกล่าว ปรากฏว่ามีหลายคนประสบความสำเร็จสมหวัง จนเป็นที่เลื่องลือของชาวบ้าน ต่อมาได้พร้อมใจกันสร้างศาลเจ้าขนาดใหญ่ขึ้น ตรงบริเวณกำแพงเมืองเก่า ซึ่งใช้เป็นป้อมปราการริมน้ำในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยป้อมแห่งนี้มี พระวิเชียรโชติ (นายทหารใหญ่เจ้าเมืองสาครบุรี) เป็นผู้ปกครองและบังคับบัญชาป้อม ต่อมาเมื่อท่านเจ้าเมืองเสียชีวิตลง ชาวบ้านเล่าว่าวิญญาณของท่านมาสถิต ณ ศาลตรงป้อมปราการแห่งนี้ด้วย

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า (รัชการที่ ๓) แห่งราชวงศ์จักรี ทรงพระราชทานนามว่า ศาลเทพเจ้าจอมเมืองตั้งอยู่บริเวณต้นศรีมหาโพธิ์ ภายในบริเวณป้อมวิเชียรโชฏก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ด้านหลังที่ว่าการอำเภอหลังเก่า ปัจจุบันไม่มีแล้ว


ในปี พุทธศักราช ๒๔๖๐ ได้สร้างอาคารทรงไทยเพื่อเป็นที่ประดิษฐานขององค์เจ้าพ่อหลักเมือง แต่อาคารนี้ถูกรื้อออกหลังการก่อสร้างศาลหลักเมืองใน ปี พุทธศักราช ๒๕๒๕ และได้เชิญเจ้าพ่อหลักเมืองไปประดิษฐานบนด้านเหนือศาลหลักเมือง  ในเวลานั้นชาวสมุทรสาครที่นับถือและศรัทธาในองค์เจ้าพ่อหลักเมือง (เจ้าพ่อวิเชียรโชติ) เห็นว่าไม่เหมาะสม จึงลงความเห็นว่าควรจะสร้างศาลใหม่ขึ้นในที่เดิม จึงได้ร่วมแรงร่วมใจบริจาคทรัพย์สินตามกำลังศรัทธาจนสามารถจัดสร้างอาคารหลังใหม่เป็นศิลปกรรมจีนที่สวยงาม แล้วจึงได้อัญเชิญองค์เจ้าพ่อหลักเมืองลงมาประดิษฐานยังศาลที่สร้างขึ้นใหม่นี้ ณ บริเวณทางทิศใต้ของศาลหลักเมือง ริมเขื่อนศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร ริมคลองมหาชัย

 ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร (เจ้าพ่อวิเชียรโชติ) นี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งประชาชนชาวสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะชาวประมงและคนไทยเชื้อสายจีนให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวประมงในจังหวัด โดยก่อนออกเรือเพื่อไปหาปลาทุกครั้งชาวประมงจะต้องไปทำพิธีสักการบูชา และจุดประทัดบริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพื่อเป็นสิริมงคล
ป้ายแนะนำพิธีการไหว้เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร
ป้ายแนะนำพิธีการไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร
อยู่บริเวณทางเข้าด้านหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
ใช้ธูปชุดใหญ่ ทั้งหมด ๒๐ ดอก
จุดที่ ๑ ไหว้ศาลทีกง (เทพยดาฟ้าดิน)  ปักธูป ๓ ดอก
จุดที่ ๒ ไหว้เจ้าพ่อหลักเมือง ทั้ง ๓ กระถาง ปักธูปกระถางละ ๓ ดอก
จุดที่ ๓ ไหว้เทพเจ้าผู้รักษาประตูทางเข้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
ทั้ง ๒ กระถาง (ซ้าย-ขวา) ปักธูปกระถางละ ๑ ดอก
จุดที่ ๔ ไหว้เสาหลักเมือง บนศาลหลักเมือง
ปักธูป ๓ ดอกพร้อมผ้าแพร ๓ สีผูกเสาหลักเมือง
จุดที่ ๕ ไหว้พระสังกัจจายน์ ภายในมณฑปพระสังกัจจายน์
ปักธูป ๓ ดอก