สารบัญศาลหลักเมือง

วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนนทบุรี (ปากคลองอ้อม) Nonthaburi (Pak Klong Om) City Pillar Shrine

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดนนทบุรี (ปากคลองอ้อม)
ณ วันพฤหัสบดีที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนนทบุรี (ปากคลองอ้อม) Nonthaburi (Pak Klong Om) City Pillar Shrine
           ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ : ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากคลองอ้อม หมู่ที่ 3 ตำบลบางศรีเมือง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี


            ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนนทบุรี (ปากคลองอ้อม) แต่เดิมเป็นศาลาไม้ทรงไทย เมื่อเวลาผ่านมาร่วม ๓๕๐ ปี ก็ผุพังไปตามกาลเวลา ปัจจุบันศาลเจ้าพ่อหลักเมืองได้รับการบูรณะมาหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน เป็นศาลาทรงไทยโบราณก่ออิฐถือปูนอย่างมั่นคง ผสมผสานกับวัฒนธรรมแบบจีน มีระเบียงโดยรอบศาล และบริเวณด้านนอกศาลเจ้าพ่อหลักเมืองด้านซ้ายมีตำหนัก ร.๕ (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และด้านขวาเป็นศาลเจ้าแม่กวนอิม


               
          ภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นที่ประดิษฐานของ องค์เจ้าพ่อหลักเมือง พระเสื้อเมือง  พระทรงเมือง  เจ้าแม่ทับทิมและเจ้าพ่อแสงมณี  มีลักษณะเป็นเจว็ดไม้มงคลแกะสลัก แผ่นไม้รูปคล้ายใบเสมา แต่ทำทรงสูง ด้านหน้าจำหลักเป็นรูปเทวดายืน บนศรีษะสวมชฎาทรงสูง


ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนนทบุรี (ปากคลองอ้อม) ได้รับการบูรณะมาหลายครั้ง
อาคารทรงไทยศาลหลักเมืองได้รับการบูรณะเมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๓๒
และมีการปรับแต่งภูมิทัศน์โดยรอบ-ทางเข้าศาลหลักเมือง
บริเวณท่าน้ำริมเจ้าพระยาเมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๔๐
องค์เจ้าพ่อหลักเมือง มีลักษณะเป็นเจว็ดไม้มงคลแกะสลัก
แผ่นไม้รูปคล้ายใบเสมา แต่ทำทรงสูง 
ด้านหน้าจำหลักเป็นรูปเทวดายืน บนศรีษะสวมชฎาทรงสูง
ภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนนทบุรี (ปากคลองอ้อม)
เชิงเทียนรูปเรือสุพรรณหงส์ ปักเทียนได้ ๑๒ เล่ม
รูปถ่ายศาลเจ้าพ่อหลักเมืองหลังเก่าและศาลาท่าน้ำเมื่อครั้งก่อนได้รับการบูรณะ
ป้ายคำบูชา-คำอธิษฐานพระหลักเมือง
ป้ายหินอ่อนบอกเล่าเรื่องราวการสร้าง
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง (ปากคลองอ้อม) อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
หิ้งบูชาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ (รัชกาลที่ ๙)
และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ศาลเจ้าจีน (ตี่จู้เอี้ยท่านเจ้าที่) ภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
เติมน้ำมันตะเกียงหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนนทบุรี (ปากคลองอ้อม)

กุมภีร์เงิน-กุมภีร์ทอง ผู้เป็นบริวารของเจ้าพ่อหลักเมือง
มองจากท่าน้ำริมเจ้าพระยาจะเห็น
หน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนนทบุรี (ปากคลองอ้อม)

กำแพงมังกรบริเวณท่าน้ำเจ้าพระยา

ทางขึ้นหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนนทบุรี (ปากคลองอ้อม)
ศาลทีกง ทีตี่แป่บ้อ (เทพยดาฟ้าดิน)
หน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนนทบุรี (ปากคลองอ้อม)
เซียมซีในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนนทบุรี (ปากคลองอ้อม)


ประวัติศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนนทบุรี (ปากคลองอ้อม)
        ศาลหลักเมืองเดิม หรือที่ชาวบ้านบริเวณในชุมชนนี้มักจะเรียกว่า "ศาลเจ้าพ่อปากคลองอ้อม"  ตั้งอยู่ที่ปากคลองอ้อม  ตำบลบางศรีเมือง อำเภอเมืองนนทบุรี  ด้วยเมืองนนทบุรี มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า ๔๐๐ ปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีคูคลองน้อยใหญ่มากมาย  เป็นเมืองเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  เดิมตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านตลาดขวัญ ซึ่งเป็นสวนผลไม้ที่ขึ้นชื่อในสมัยนั้น ได้รับการยกฐานะเป็นเมืองนนทบุรี  เมื่อปี พุทธศักราช ๒๐๙๒ ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

       ราวปี พุทธศักราช ๒๑๗๙ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๕) ทรงโปรดเกล้าฯ  ให้ขุดคลองลัดตอนใต้วัดท้ายเมืองไปทะลุหน้าวัดเขมาภิรตาราม เพราะเดิมนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาไหลวกเข้าแม่น้ำอ้อมมาทางบางใหญ่วกเข้าคลองบางกรวยข้างวัดชลอ มาออกหน้าวัดเขมาภิรตาราม เนื่องจากคลองที่ขุดมีเส้นทางที่คดเคี้ยวมาก เมื่อขุดคลองลัดแล้ว แม่น้ำก็เปลี่ยนทางเดินไหลเข้าคลองลัดที่ขุดใหม่กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่ดังปัจจุบันนี้


         ในปี พุทธศักราช ๒๒๐๘  เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชญ) ทรงเห็นว่าแม่น้ำเปลี่ยนทางเดินใหม่นั้น ทำให้ข้าศึกประชิดพระนครได้ง่าย จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการตรงปากแม่น้ำอ้อม เพื่อป้องกันข้าศึกเข้ามารุกราน  และให้ย้ายเมืองนนทบุรีจากบ้านตลาดขวัญ  มาอยู่ที่ปากแม่น้ำอ้อมทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา  ทรงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลเจ้าพ่อหลักเมืองขึ้น ณ ปากคลองอ้อมเมืองนนทบุรี เพื่อเป็นที่ประดิษฐานของเทพยดา ที่ได้อัญเชิญมาเพื่อคุ้มครองบ้านเมืองตามประเพณี และนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงและความร่มเย็นเป็นสุขของบ้านเมืองและประชาชนสืบไป

       เทพยดาที่ได้อัญเชิญมา ณ ศาลแห่งนี้มี ๓ องค์ คือ เจ้าพ่อหลักเมือง  พระเสื้อเมือง  พระทรงเมือง  แต่เนื่องจากศาลแห่งนี้ตั้งอยู่บนทางสามแพร่ง  ในเวลาต่อมาชาวเรือและชาวบ้านบริเวณนั้นจึงอัญเชิญเทพมาสถิตอีก  ๒ องค์คือ  เจ้าแม่ทับทิมและเจ้าพ่อแสงมณี  


       และภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองแห่งนี้ ยังมีซากหัวจระเข้มากมายตั้งเรียงรายอยู่ เชื่อว่าในอดีตบริเวณนี้เป็นวังจระเข้เก่าจระเข้เหล่านี้ก็ล้วนเป็นบริวารของเจ้าพ่อหลักเมืองนั่นเอง

           บริเวณด้านนอกศาลเจ้าพ่อหลักเมืองด้านซ้ายมีตำหนัก ร.๕ (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และด้านขวาเป็นศาลเจ้าแม่กวนอิม
ด้านซ้ายของศาลเจ้าพ่อหลักเมือง มี ตำหนัก ร.๕
(พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) 


หิ้งบูชาพระศรีสุริโยทัย , สมเด็จพระนเรศวรมหาราช , สมเด็จพระสุพรรณกัลยา
ด้านขวาของศาลเจ้าพ่อหลักเมือง มี ศาลเจ้าแม่กวนอิม


            หลังจากนั้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงโปรดฯ ให้ย้ายเมืองนนทบุรีไปตั้งที่ปากคลองบางซื่อ บ้านตลาดขวัญ 
            และในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) พระองค์ทรงโปรดฯ ให้ตั้งศาลากลางเมืองขึ้นที่ปากคลองบางซื่อ ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา 
            จนถึงปี พุทธศักราช ๒๔๗๑ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) พระองค์ทรงโปรดฯ ให้ย้ายศาลากลางมาตั้งที่ราชวิทยาลัย บ้านบางขวาง ตำบลบางตะนาวศรี ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกองฝึกอบรมกระทรวงมหาดไทย ซึ่งตั้งอยู่บนถนนประชาราษฎร์ สาย ๑ อำเภอเมืองนนทบุรี ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป มีลวดลายตามอาคารประดับด้วยไม้ฉลุ กรมศิลปากรได้ขึ้นบัญชีเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่ง 
             และในปัจจุบันศาลากลางจังหวัดนนทบุรีได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ ณ ศูนย์ราชการจังหวัด ถนนรัตนาธิเบศร์ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และได้มีการก่อสร้างและวางศิลาฤกษ์ศาลหลักเมืองหลังใหม่ พร้อมทั้งทำพิธีผูกชะตาเมืองและฝังเสาหลักเมืองใหม่ยัง  ศาลหลักเมืองบริเวณถนนรัตนาธิเบศร์

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนนทบุรี (ปากคลองอ้อม)
ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ : ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ใต้สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ บริเวณปากคลองอ้อม
หมู่ที่ 
3 ตำบลบางศรีเมือง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น