ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรปราการ
(ปากน้ำ)
ณ
วันพุธที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรปราการ (ปากน้ำ) Samutprakan
(Paknam) City Pillar Shrine
ปัจจุบันตั้งอยู่ริมถนนประโคนชัย
ใกล้กับตลาดปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรปราการ
(ปากน้ำ) เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวจังหวัดสมุทรปราการ
มานานเกือบ ๒๐๐ ปี มีลักษณะแตกต่าง จากการสร้างหลักเมืองที่อื่นๆ
ที่มีการแยกสถานศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองเป็น ๒ ส่วนคือ ศาลเจ้าพ่อ
คุ้มครองเมือง ซึ่งเป็นไปตามความเชื่อของชาวจีน ส่วนเสาหลักเมือง ซึ่งถือเป็นฐานหลักของแต่ละเมือง
แต่ชาวเมืองปากน้ำนิยมเรียกรวมเป็นชื่อเดียวว่า “ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง”
สำหรับศาลหลักเมืองสมุทรปราการ
(ปากน้ำ) แห่งนี้เดิมเป็นอาคารทรงไทย แต่ด้วยความที่ศาลหลักเมืองสร้างมานานเกือบ
๒๐๐ ปี ประกอบกับทำด้วยไม้สภาพจึงชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ต่อมาเมื่อวันที่
๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้ทำการบูรณะเปลี่ยนรูปแบบใหม่มาเป็นศาลหลักเมืองแบบศาลเจ้าพ่อจีน
ด้วยสาเหตุที่บริเวณชุมชนแห่งนี้มีชาวจีนเข้ามาตั้งรกรากค้าขาย และเป็นกุลีมาเป็นเวลาช้านาน ชาวไทยเชื้อสายจีนกลุ่มนี้เคารพบูชาศาลหลักเมืองสมุทรปราการเป็นอย่างมาก
ต่อมาจึงได้ร่วมมือกันสร้างศาลหลักเมืองแห่งนี้ขึ้นมาใหม่
เมื่อศาลหลักเมืองทรงไทยชำรุดทรุดโทรมลงไป มาเป็นศาลหลักเมืองแบบจีน เป็นตัวอย่างการนำเอาวัฒนธรรมจีนมาผสมผสานกับวัฒนธรรมไทย
เสาหลักเมือง
ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ สูง ๖ ศอก ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปดอกบัวตูม เมื่อครั้งสร้างเมืองสมุทรปราการ
พระบาทสมเด็จพระบรมราชพงษเชษฐมเหศวรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ได้ทรงประกอบพิธีฝังหลักเมือง
เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก กระทั่งวันพุธเดือน ๔ ขึ้น ๑๐
ค่ำ ย่ำรุ่ง ๔ นาฬิกา ๖ บาท ได้ฤกษ์เอาแผ่นยันต์ ทอง เงิน ทองแดง ดีบุกและศิลา
ลงสู่ภูมิบาท แล้วยกเสาหลักเมือง ณ วันเสาร์เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ย่ำรุ่ง ๕ นาฬิกา ๖
บาท ฝังอาถรรพณ์ แผ่นยันต์องค์รักษ์อีกครั้ง
เสาหลักเมืองสมุทรปราการ ตั้งอยู่เยื้องซ้ายที่ประทับของเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นไม้กลมความสูงประมาณ ๖ ศอกเศษ ส่วนยอดบนของเสาหลักเมืองกลึงเป็นดุมลดหลั่น ยอดเป็นพุ่มแหลมอย่างไทยแต่แกะสลักเป็นมังกรปีนเสาหลักเมืองขึ้นไป ลักษณะของมังกรมีเกล็ดขาแบบจระเข้ มีผ้าเจ็ดสีพันอยู่บริเวณโดยรอบของเสา มีซุ้มโค้งโอบครึ่งเสาเปิดด้านหน้า เป็นการแต่งเติมเสาหลักเมืองตามความเคารพศรัทธาของชาวไทยเชื้อสายจีน แห่งเมืองสมุทรปราการ (ปากน้ำ)
ศาลเจ้าพ่อ
คือ ศาลแห่งเทพเจ้า ที่ชื่อ เฉิงหวง (คำว่า เฉิง คือ
เมือง ส่วนคำว่า หวง คือ เจ้า เมื่อรวมความคำ เฉิงหวง คือ เทพเจ้าเมือง )
ตามตำนานจีน เทพเฉิงหวง เป็นเทพผู้มีพระมัสสุ(หนวด)ยาว หน้าตาน่าเกรงขาม
เจ้าพ่อ (เทพเฉิงหวง) ในศาลหลักเมืองสมุทรปราการ
(ปากน้ำ) มีลักษณะเป็นขุนนางจีนโบราณแต่งเครื่องแบบเต็มยศ
สวมหมวกนั่งอยู่บนเก้าอี้ ขนาบข้างด้วยบริวารข้างละคน ตั้งอยู่ในซุ้มบูชากลางศาลเจ้า
บริเวณปากของเจ้าพ่อศาลหลักเมืองเปื้อนฝิ่นสีดำเป็นมัน เนื่องจากชาวบ้านบางคนนิยมเซ่นไหว้บูชาเจ้าพ่อศาลหลักเมืองด้วยฝิ่น
บริเวณโดยรอบศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวไทยเชื้อสายจีน และเคยมีโรงยาฝิ่นอยู่บริเวณข้างศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
ซึ่งแต่เดิมนั้นทางการไทยยอมให้ชาวจีนสูบฝิ่นและตั้งโรงยาฝิ่นได้โดยไม่ถือว่าผิดกฎหมายแต่อย่างใด
ต่อมาในสมัยของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ.
๒๕๐๒ โรงยาฝิ่นจึงถูกยกเลิกไป
![]() |
รูปปั้นสิงห์ที่เฝ้าประตูทางเข้า-ออกศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรปราการ (ปากน้ำ) |
![]() |
ภาพประติมากรรมฝาผนังภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรปราการ (ปากน้ำ) |
![]() |
ประตูภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรปราการ (ปากน้ำ) |
![]() |
ซุ้มที่ประทับของเทพเจ้าเฉิงหวงที่ตกแต่งไว้อย่างสวยงาม ภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรปราการ (ปากน้ำ) |
![]() |
ภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรปราการ (ปากน้ำ) |
![]() |
ซุ้มเทพเจ้าภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรปราการ (ปากน้ำ) |
![]() |
ซุ้มพระสังกัจจายน์ องค์พระโพธิสัตว์กวนอิม และเทพเจ้า ภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรปราการ (ปากน้ำ) |
![]() |
เสามังกรด้านนอกและเตาเผากระดาษเงินกระดาษทอง ในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรปราการ (ปากน้ำ) |
![]() |
ด้านนอกศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรปราการ (ปากน้ำ) จำหน่ายดอกไม้ พวงมาลัย เพื่อสักการะ |
![]() |
ซุ้มประตูทางเข้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรปราการ (ปากน้ำ) ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ : ริมถนนประโคนชัย ใกล้ตลาดปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ |
ไม่ทราบว่า ตอนนี้ รับแก้ปีชง หรือยังค่ะ
ตอบลบมาเลยครับ เริ่มแก้ปีงตั้งแต่วันที่4กุมภาพันธ์แล้วครับ
ลบ