สารบัญศาลหลักเมือง

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี (Suphanburi City Pillar Shrine)

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี
ณ วันเสาร์ที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙
 ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี (Suphanburi City Pillar Shrine)

                ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ : ถนนไร่ฝ้าย ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณ จังหวัดสุพรรณบุรี

                ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) ห่างจากฝั่งแม่น้ำไปตามถนนมาลัยแมนแล้วเลี้ยวเข้าสู่ถนนไร่ฝ้าย เดิมเป็นศาลไม้ทรงไทยลักษณะคล้ายโบสถ์ หลังคาสองชั้น หน้าบันแกะสลักไว้อย่างสวยงาม ปัจจุบันได้สร้างศาลเป็นรูปวิหารเก๋งจีน ครอบศาลไม้ทรงไทยหลังเดิมไว้อีกชั้นหนึ่ง

               "เจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี" เป็นเทวรูปสลักด้วยหินศิลาสีเขียวทรงสี่เหลี่ยมติดกับผนัง มี ๒ องค์ เป็นรูปสลักหินนูนต่ำรูปพระวิษณุ หรือพระนารายณ์สี่กร สวมหมวกทรงกระบอกทั้ง ๒ องค์  อยู่ในท่ายืน หัตถ์ขวาบนทรงจักร หัตถ์ซ้ายบนทรงกริช หัตถ์ขวา-ซ้ายล่างอยู่ในท่าท้าวสะเอว ซึ่งถือว่าเป็นประติมากรรมสวมหมวกทรงกระบอกเก่าแก่ที่สุด มีอายุในราวพุทธศักราช ๑๑๘๕-๑๒๕๐  หรือประมาณ ๑,๓๐๐-๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว  

          
ประวัติศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี
           ตามประวัติจากการสอบถามผู้สูงอายุว่าพบเห็นมานานร้อยกว่าปี รวมเวลาตั้งแต่พบเห็นมาจนถึงปัจจุบันก็ไม่น้อยกว่า ๑๕๐ ปีมาแล้ว มีผู้พบจมดินจมโคลน อยู่ริมคลองศาลเจ้าพ่อ  จึงได้ช่วยกันอัญเชิญขึ้นข้างบน พร้อมกับสร้างศาลเป็นที่ประทับ ตามหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ แสดงว่ามีเฮียกงหรือกรรมการชาวจีนดูแลรักษาเรื่อยมา 
           
          เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย ได้เสด็จมาตรวจราชการเมืองเหนือจนมาถึงเมืองอ่างทอง และจะเดินทางต่อมาทางบกเพื่อตรวจราชการเมืองสุพรรณ ทรงได้รับการทัดทานจากผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองว่า "เขาห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ เพราะเทพารักษ์เมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้า"  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสว่า "พระองค์จะไปทำประโยชน์ให้แก่เมืองสุพรรณคงไม่เป็นไร" แล้วได้เสด็จไปตามทุ่งนา ผ่านย่านสาวร้องไห้จนถึงเมืองสุพรรณ

          หลังจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจราชการแล้ว ทรงทำพลีกรรมที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ณ ขณะนั้นตัวศาลเจ้าเป็นไม้เก่าคร่ำคร่า จึงทรงชักชวนชาวเมืองสุพรรณ ไทย-จีน ช่วยกันสร้างศาลเจ้าใหม่ให้เป็นตึกก่ออิฐถือปูน ตัวศาลสร้างเป็นทรงไทยแบบโบสถ์  ส่วนประตูและเก๋งรายรอบสร้างเป็นแบบจีน มีหงส์-มังกร เป็นสัญลักษณ์ความร่วมมือของประชาชนพลเมือง ชาวไทย-ชาวจีน และก่อสร้างเขื่อนถมดินเป็นชานรอบนอก พวกพ่อค้าชาวจีนได้ช่วยกันแข็งแรงมาก ทั้งในการบริจาคทรัพย์ และการดูแลรักษา และเริ่มมีเฮียกงประจำศาลตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

           ต่อมามีผู้ไปกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เสด็จประพาสเมืองสุพรรณพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระราชดำรัสว่า เข้าทีดีนักหนา แต่เขาห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ ว่าถ้าขืนไปจะเป็นบ้าไม่ใช่หรือสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กราบถวายบังคมว่า "ข้าพระพุทธเจ้าไปมาแล้ว ไม่เห็นเป็นอะไร ยังรับราชการมาจนบัดนี้" พระพุทธเจ้าหลวงทรงตรัสสั้นๆ ว่า ไปซิแล้วจึงได้เสด็จมาเมืองสุพรรณ 

           ในคราวเสด็จประพาสต้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๗  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เสด็จมาประพาสเมืองสุพรรณ ทรงทำพลีกรรมที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อซ่อมแซมศาลหลักเมือง  สร้างกำแพงแก้วกับศาลาที่พัก  และทรงให้ขยายบริเวณศาลเจ้าให้กว้างขวางออกไปอีก

           ปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ : กรมศิลปากรได้ ประกาศขึ้นทะเบียนศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘

           สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์กับเจ้าพระยายมราช ทรงสนพระทัยในการปรับปรุงศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ได้สร้างกำแพงล้อมเขตศาลหลักเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีประตูเข้าด้านหน้า มีศาลาที่พักสำหรับคนที่มากราบไหว้บูชา ในราวปีพุทธศักราช ๒๔๘๐ ทุกปีในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ของจีน  จะมีพิธีงานประเพณี  ทิ้งกระจาด” (หรือ พิธีทิ้งทาน) จัดที่สมาคมจีน ซึ่งเป็นพิธีกรรมของพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ถือเป็นการจำเริญเมตตาแก่ดวงวิญญาณ ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยนำสิ่งของต่าง ๆ ที่ผู้ตายใช้สอย และสิ่งของจำเป็นอื่นๆ มาแจกแก่ผู้ยากจน

          เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ นายพัฒน์  บุณยรัตพันธุ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกับนายติ๊กเซี๊ยะ แซ่ตั้ง ประธานกรรมการศาลเจ้าพ่อหลักเมือง และนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้ชักชวนประชาชนทั้ง ไทย-จีน ให้ร่วมมือกันปรับปรุงซ่อมแซมอาคารศาลเจ้าพ่อหลักเมืองใหม่ โดยรื้อออกแล้วทำใหม่หมด  เว้นไว้เพียงแต่ผนังที่เจ้าพ่อประทับพิงอยู่เท่านั้น และยังคงรูปแบบอาคารซึ่งเป็นอาคารทรงไทยคล้ายพระอุโบสถของเดิมไว้ รวมทั้งได้เจาะประตูด้านข้างตัวศาลเพิ่มเติม ภายในอาคารทรงตึกซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน  ส่วนอาคารบริวารโดยรอบคงทำเป็นลักษณะแบบเก๋งจีนดังเดิมรวมทั้งซุ้มประตู

           ปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ คณะกรรมการศาลเจ้าพ่อหลักเมือง โดยมีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นประธานได้ประชุมปรึกษาหารือเห็นพ้องต้องกันว่า ขณะนี้ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองค่อนข้างจะคับแคบและทรุดโทรมลงมาก ไม่สะดวกแก่ผู้ที่จะมากราบสักการะบูชาเจ้าพ่อหลักเมือง จึงลงมติให้ขยายตัวศาลเจ้าให้กว้างขวางและโอ่อ่าภูมิฐาน พร้อมกันนั้นนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้บริจาคเงินเป็นปฐมฤกษ์ จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) เพื่อเป็นทุนในการดำเนินการขั้นต้น ต่อมาได้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก

           ภายในศาลแห่งนี้ยังมี ปูนเถ้าก๋ง เทพเจ้าจีนโบราณ ๒ องค์ที่ชาวสุพรรณเชื่อว่าท่านได้คุ้มครองชาวเมืองให้มีอยู่ดีกินดี มีความมั่นคง ปลอดภัย 
                      
            ทางคณะกรรมการได้ว่าจ้างนายช่างที่มีฝีมือในศิลปะจีน มาดำเนินการก่อสร้าง เพื่อให้ได้ประติมากรรมที่มีคุณค่าในทางศิลปะ คลุมองค์ศาลเก่าให้เรียบร้อย สวยงาม, มังกรซึ่งเป็นเครื่องหมายสิริมงคลยศฐาบรรดาศักดิ์อันสูงส่ง, หงส์อันเป็นสัญลักษณ์ของการประสบพบโชคลาภตามคตินิยมของชนชาวจีน   สิ้นงบประมาณค่าก่อสร้างประมาณ ๑๕ ล้านบาท (สิบห้าล้านบาท)

             ทั้งนี้ นายบรรหาร ศิลปอาชา ยังได้ซื้อที่ดินบริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองถวายเพิ่มอีก ๗ไร่ เพื่อทำการก่อสร้างมังกรพันเสาสูง ๒๒ เมตร ที่บริเวณปากทางเข้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอย่างสวยงามยิ่ง และมีการก่อสร้างสวนหลักเมือง ซึ่งจะเป็นสวนสุขภาพ เพื่อเป็นที่พักผ่อนของประชาชนอีกด้วย 

องค์จำลองเทวรูปพระวิษณุเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี
ภายนอกศาลหลักเมืองทรงไทยที่อนุญาตให้ปิดทองได้
เก๋งจีนด้านหน้าภายนอกศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี
กระถางปักธูปหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี
ศาลหลักเมืองไม้ทรงไทยลักษณะคล้ายโบสถ์ เจาะประตูด้านข้าง
ปัจจุบันได้สร้างศาลเป็นวิหารเก๋งจีน ครอบศาลไม้ทรงไทยหลังเดิมไว้อีกชั้นหนึ่ง
ศาลหลักเมืองไม้ทรงไทยลักษณะคล้ายโบสถ์ เจาะประตูด้านข้าง
ปัจจุบันได้สร้างศาลเป็นวิหารเก๋งจีน ครอบศาลไม้ทรงไทยหลังเดิมไว้อีกชั้นหนึ่ง
บริเวณภายนอกศาลหลักเมืองไม้ทรงไทย เจาะประตูด้านข้าง
เซียมซีภายในศาลหลักเมืองไม้ทรงไทย
ผนังภายในวิหารเก๋งจีนจารึกประวัติเรื่องราว
ของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี และการบูรณะปฏิสังขรณ์

ปูนเถ้าก๋ง” เทพเจ้าจีนโบราณองค์ที่ชาวสุพรรณเชื่อว่า
ท่านได้คุ้มครองชาวเมืองให้มีอยู่ดีกินดี มีความมั่นคง ปลอดภัย
ปูนเถ้าก๋งเทพเจ้าจีนโบราณองค์ที่ชาวสุพรรณเชื่อว่า
ท่านได้คุ้มครองชาวเมืองให้มีอยู่ดีกินดี มีความมั่นคง ปลอดภัย
ประตูทางเข้า-ออกวิหารเก๋งจีนในศาลหลักเมืองสุพรรณบุรี
เทพเจ้ากวนอู : เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ฝ่ายบู๊
ทรงประทานความเจริญก้าวหน้าและโชคลาภหน้าศาลหลักเมืองสุพรรณบุรี
อาคารเก๋งจีนที่สร้างคลุมศาลหลักเมืองไม้ทรงไทย
ศาลหลักเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี
อาคารเก๋งจีนที่สร้างคลุมศาลหลักเมืองไม้ทรงไทย
ศาลหลักเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี
อาคารเก๋งจีนที่สร้างคลุมศาลหลักเมืองไม้ทรงไทย
ศาลหลักเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี
เตาเผากระดาษเงิน กระดาษทอง และจุดประทัด
บูชาเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี
              พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร และ อุทยานมังกรสวรรค์ สร้างขึ้นตามความต้องการของ นายบรรหาร ศิลปอาชา ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้เริ่มออกแบบและจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกรขึ้น ภายในบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี ก่อตั้งขึ้นเพื่อนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของชาวจีนในประเทศไทย ตลอดจนประวัติศาสตร์และอารยธรรมจีน เพื่อเป็นอนุสรณ์สัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ครบ ๒๐ ปี ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๙

             พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกรเป็นหนึ่งในสถานที่มหัศจรรย์เมืองไทย ในโครงการ ๑๒ เดือน ๗ ดาว ๙ ตะวัน ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

            พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร ที่โดดเด่น อาคารจุดเด่นหลังใหม่ ในบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี คือ อาคารรูปทรงมังกร ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ความยาว ๑๓๕ เมตร สูง ๓๕ เมตร กว้าง ๑๘ เมตร ภายในเป็นห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์อารยธรรมของชาวจีน ย้อนหลังไปถึง ๕,๐๐๐ ปี

             นอกจากมังกรขนาดใหญ่แล้ว ยังมีศาลากลางน้ำ ๗ ชั้น สูง ๒๗ เมตร กว้าง ๑๔ เมตร, เก๋งจีน, ป้ายร้อยแซ่, ศาลา, วรรณคดีไซอิ๋ว, ศาลฮก ลก ซิ่ว, ศาลเปาบุ้นจิ้น และอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย 

ซุ้งประตูมังกรทางเข้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี
พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร ในบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี
อาคารรูปทรงมังกรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
ความยาว ๑๓๕ เมตร สูง ๓๕ เมตร กว้าง ๑๘ เมตร
ภายในเป็นห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์อารยธรรมของชาวจีน
มังกรพันเสาศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี
ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ : ถนนไร่ฝ้าย ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณ จังหวัดสุพรรณบุรี

วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2559

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสระบุรี (บ้านหมอ) Saraburi (Banmoa) City Pillar Shrine

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสระบุรี (บ้านหมอ)
ณ วันศุกร์ที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙ 

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสระบุรี (บ้านหมอ)  Saraburi (Banmoa) City Pillar Shrine
        ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ : ฝั่งตรงข้ามกับทะเลสาบบ้านหมอ หมู่ ๑๑ ตำบลบ้านหมอ อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี


        ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสระบุรี (บ้านหมอ) ได้ชื่อว่า "ศาลหลักเมืองโบราณ" ลักษณะเป็นศาลาเปิดโล่ง หลังคาไม้ทรงไทย หลังคาปูด้วยกระเบื้องดินเผาเกล็ดปลาบางส่วนผุผังไปตามกาลเวลา พื้นศาลก่ออิฐถือปูนยกสูงทรงสี่เหลี่ยมเฉพาะใต้ฐานองค์เจ้าพ่อหลักเมือง

        องค์เจ้าพ่อหลักเมือง เป็นเทวรูปนั่ง ทำด้วยหินทราย สันนิษฐานว่าเป็นศิลปะขอมในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘  มีเทวรูปหนุมานและสุครีพอยู่ร่วมภายในศาล

        บ้านคูเมือง (เมืองขีดขิน หรือ เมืองปรันตปะ) ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหมอ อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ลักษณะเป็นเมืองโบราณ มีคูน้ำคันดินล้อมตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมมน และยังคงปรากฎหลักฐานครบทั้งสี่ด้าน กว้างประมาณ ๓๖๐ เมตร ยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร พื้นที่โดยประมาณ ๐.๒๗ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๗๐-๘๐ ไร่ ความเจริญของบ้านคูเมืองจัดอยู่ในสมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘)

         จากการสำราจทางโบราณคดี พบแผ่นอิฐแบบทราวดี หินบด ขวานหินขัด เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งสีเทาและสีดำ รอยประทับรูปเรือนแก้ว โบราณวัตถุที่พบเหล่านี้ สันนิษฐานว่า บ้านคูเมืองหรือเมืองขีดขิน มีอายุตั้งแต่สมัยทราวดี ลพบุรี และสืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตามลำดับ
          
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสระบุรี (บ้านหมอ) ได้ชื่อว่า "ศาลหลักเมืองโบราณ"
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสระบุรี (บ้านหมอ)
เจ้าพ่อหลักเมืองสระบุรี (บ้านหมอ)
ศาลาทรงไทยโบราณของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสระบุรี (บ้านหมอ)
ต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ที่คลุมศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสระบุรี (บ้านหมอ)

ป้ายทางเข้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสระบุรี (บ้านหมอ)
หากไม่สังเกตจริง ๆ แทบจะมองไม่เห็นเลย
หน้าทางเข้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสระบุรี (บ้านหมอ)
มีกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙)
"การสร้างอาคารสมัยนี้ คงเป็นเกียรติสำหรับผู้สร้างคนเดียว
แต่เรื่องโบราณสถานนั้น เป็นเกียรติของชาติ
อิฐเก่า ๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ควรจะช่วยกันรักษาไว้
ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว
ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย"
          

            บ้านคูเมือง มีอีกชื่อว่า "เมืองขีดขิน" และตำนานพระพุทธบาทเรียกเมืองนี้ว่า "ปรันตปะราชธานี" พงศวดารเหนือ ฉบับพระวิเชียรปรีชา (น้อย) กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "สมเด็จพระเจ้าไกรสรราช จึงสั่งให้ เสนาในให้สร้างเมืองใกล้เมืองละโว้ ทาง ๑๐๐ เส้น จัดแต่งพระราชวังและคูหอรบ เสาใต้เชิงเรียงบริูบูรณ์แล้ว จึงให้อำมาตย์รับเอาพระเจ้าดวงเกรียงกฤษณราชกับราชเทวี ไปราชาภิเษกร่วมกัน เมืองนี้นจึงชื่อว่า "เสนาราชนคร" แต่นั้นมา

            กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน บ้านคูเมือง (เมืองขีดขิน หรือ เมืองปรันตปะ) เป็นโบราณสถานของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๕ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘


ตำนาน "เมืองขีดขิน"
            เมืองขีดขิน เป็นเมืองเสนาราชนคร หรือ เมืองปรันตปะ เป็นโบราณสถานที่สำคัญของอำเภอบ้านหมอ ลักษณะเป็นคันดินและคูน้ำล้อมรอบ ตรงกลางเป็นโคกสูงเรียกว่า "โคกปราสาท" เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยทวาราวดี เคยมีคนขุดค้นพบวัตถุโบราณหลายชิ้น เช่น ศิลารูปพระโพธิสัตว์กับรูปทวารบาลหรือเทวบาล (ปัจจุบันอยู่ที่วัดพระพุทธบาท) อันเป็นศิลปะขอมสมัยเดียวกับพระปรางค์สามยอดลพบุรี ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองและเป็นเมืองท่าสำคัญมาหลายสมัยตั้งแต่สมัยขอม ละโว้ สุโขทัย และอยุธยา

          ตำนานเกี่ยวเนื่องกับวรรณกรรม เรื่อง รามเกียรต์ โดยเล่าขานกันมาว่า เมื่อครั้งพระรามมาปราบพนาสูร และได้ประทานที่ดินให้แก่หนุมานและสุครีพ หนุมานจึงได้ครองกรุงละโว้ (ปัจจุบัน คือ จังหวัดลพบุรี) และสุครีพได้ครองเมืองเสนาราชนคร หรือ เมืองขีดขิน (ปัจจุบัน คือ จังหวัดสระบุรี)

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสระบุรี (บ้านหมอ)
ตั้งอยู่ที่ : ฝั่งตรงข้ามกับทะเลสาบบ้านหมอ

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสระบุรี (บ้านหมอ)
ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ : ฝั่งตรงข้ามกับทะเลสาบบ้านหมอ
หมู่ ๑๑ ตำบลบ้านหมอ อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี