สารบัญศาลหลักเมือง

วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ศาลหลักเมืองจังหวัดนครสวรรค์ (Nakhonsawan City Pillar Shrine)

ศาลหลักเมืองจังหวัดนครสวรรค์
ณ วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ (วันวิสาขบูชา)

ศาลหลักเมืองจังหวัดนครสวรรค์  (Nakhonsawan City Pillar Shrine)
ปัจจุบันตั้งอยู่ ณ บริเวณเชิงเขากบ ตรงข้ามกับโรงเรียนนครสวรรค์ใกล้กับสำนักงานเทศบาลนครสวรรค์  ตำบลปากน้ำโพ  อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์


            ศาลหลักเมืองจังหวัดนครสวรรค์ เป็นสถาปัตยกรรมไทย มณฑปจตุรมุขทรงไทยรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่ออิฐฉาบปูนขาวแดง  มีซุ้มประตูเข้า-ออก ๓ ด้าน  ลักษณะหลังคาทรงไทยเป็นชั้นลด ๒ ชั้น ทรงจั่ว ๔ ด้าน ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หลังคามุงกระเบื้องเกล็ด เรือนยอดหลังคาเป็นแบบยอดปรางค์ ส่วนของยอดปรางค์ประดับฝักเพกา (ลำภุขัน) มีลักษณะคล้ายวชิราวุธอันเป็นอาวุธ ของพระอินทร์นำมาซ้อนกัน ๓ ชั้น

ภายในประดิษฐานเสาหลักเมือง ซึ่งมีลักษณะเป็นเสากลม ทำจากไม้มงคลราชพฤกษ์ ยอดเสาหลักเมืองแกะสลักเป็นรูปดอกบัวตูม ส่วนฐานแกะสลักเป็นดอกบัวรองรับ ลงรักปิดทอง โดยกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบและแกะสลักเสาหลักเมือง 
ป้ายศาลหลักเมืองนครสวรรค์
บริเวณประตูหน้าทางเข้าศาลหลักเมืองนครสวรรค์

ภายในศาลหลักเมืองเป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองนครสวรรค์
ภายในศาลหลักเมืองนครสวรรค์ประดิษฐานองค์เทพารักษ์ ๓ องค์ อันได้แก่
องค์ซ้ายคือ “พระเสื้อเมือง”
องค์กลางคือ “พระกาฬไชยศรี”
องค์ขวาคือ “พระทรงเมือง”
พระเสื้อเมือง : เป็นเทพารักษ์คุ้มครองป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ คุมกำลังไพร่พล แสนยากร รักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากอริราชศัตรูมารุกราน
พระทรงเมือง : เป็นเทพรักษาการปกครอง และกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ดูแลทุกข์สุขของประชาชน ให้ร่มเย็นเป็นสุขสวัสดี
พระกาฬไชยศรี : เป็นบริวารพระยม มีหน้าที่นำวิญญาณของมนุษย์ผู้ทำบาปไปสู่ยมโลก

ป้ายคำกล่าวบูชาสักการะองค์พระหลักเมืองนครสวรรค์

ขั้นตอนการนมัสการศาลหลักเมืองนครสวรรค์
    1.   จุดเทียนปักในกระถางด้านหน้าทางเข้าศาลหลักเมือง
    2.   จุดธูปเข้าด้านในเพื่อกล่าวคำบูชาและสักการะศาลหลักเมือง
    3.   นำธูปออกมาปักในกระถางด้านหน้าศาลหลักเมือง
    4.   ถวายดอกไม้สด และเครื่องสังเวย หรือสิ่งของต่างๆ ที่เตรียมมา
    5.   ปิดทองที่เสาหลักเมืองและองค์พระ ๓ องค์ 
          (พระเสื้อเมือง พระกาฬชัยศรี พระทรงเมือง)
    6.   เติมน้ำมันตะเกียง

ความสวยงามของเพดานศาลหลักเมืองจังหวัดนครสวรรค์ 

เทวดารักษาทวารและผนังภายในศาลหลักเมืองจังหวัดนครสวรรค์ 

บริเวณจุดเทียน-ปักธูป-เติมน้ำมันตะเกียงหน้าศาลหลักเมืองจังหวัดนครสวรรค์ 

กระถางมังกรปักเทียน-ปักธูปหน้าศาลหลักเมืองจังหวัดนครสวรรค์ 

ผนังด้านหลังภายนอกศาลหลักเมืองจังหวัดนครสวรรค์
เป็นป้ายหินอ่อนจารึกประวัติความเป็นมาของศาลหลักเมือง 

บริเวณโดยรอบนอกศาลหลักเมืองจังหวัดนครสวรรค์











บริเวณด้านหลังศาลหลักเมืองจังหวัดนครสวรรค์
       เป็นที่ตั้งมณฑปและภายในประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์  อันได้แก่

หอพระกษิติครรภ์มหาโพธิสัตว์เจ้า

พระอาจารย์ โอภาษี

ยกช้างเสี่ยงทายภายในมณฑปด้านหลังศาลหลักเมือง

หอพระเจ้างามฟ้าพุทธาสถิตย์ ภายในมณฑปด้านหลังศาลหลักเมือง

หอองค์มหาเทพ และเทพเทวาทั้งปวง ภายในมณฑปด้านหลังศาลหลักเมือง

หอภูมิเทวาพิทักษ์อุดมเขตต์ (ท่านเจ้าที่)
และหอเทพปูชนียสถาน
ภายในมณฑป ด้านหลังศาลหลักเมือง
ประวัติศาลหลักเมืองจังหวัดนครสวรรค์
        ตามประเพณีการสร้างบ้านสร้างเมืองแต่โบราณกาลสืบเนื่องกันมา  เมื่อมีการสร้างบ้านสร้างเมืองขึ้น ณ ที่แห่งใด  ก็จำเป็นจะต้องมีหลักเมืองควบคู่กันไปด้วย  การสร้างหลักเมืองไม่เกี่ยวกับลัทธิศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น  แต่เป็นสัญลักษณ์แสดงว่า  เมื่อสร้างหลักเมืองเสร็จแล้ว  บ้านเมืองจะได้สถิตสถาพรยืนนาน  ประชาชนพลเมืองจะได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข  ปราศจากภัยพิบัติทั้งปวง  และเป็นหลักชัยที่จะนำความสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลมาสู่จังหวัด  เป็นนิมิตมงคลแห่งความร่วมมือสามัคคีกลมเกลียวกัน

        เนื่องจากตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ปรากฏว่า  จังหวัดนครสวรรค์มีหลักเมืองมาก่อน  เพื่อให้บ้านเมืองเป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวมาข้างต้น  ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์  (นายวิทยา  เกษรเสาวภาค)  จึงได้ขออนุญาตสร้างหลักเมืองไปยังกระทรวงมหาดไทย  และทางกระทรวงมหาดไทยก็ได้พิจารณาเห็นชอบด้วย  ได้ตอบอนุญาตให้สร้างขึ้นได้ตามความประสงค์

ศาลหลักเมืองจังหวัดนครสวรรค์ จึงได้เริ่มการก่อสร้างในสมัยที่นายวิทยา เกษรเสาวภาค เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์  อาคารศาลหลักเมืองและเสาหลักเมืองแห่งนี้ออกแบบโดยกรมศิลปากร สร้างขึ้นด้วยเงินบริจาคของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นเงินทั้งสิ้น ๔๕๐,๐๐๐ บาท (สี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน)   นายช่างผู้แทนกรมศิลปากร และสำนักผังเมือง เป็นผู้พิจารณาเลือกสถานที่ เริ่มทำการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖   โดยมี ฯพณฯ ถวิล สุนทรศารทูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖  ส่วนการตกแต่งบริเวณโดยรอบศาลหลักเมือง ได้ใช้จ่ายเงินจากเงินงบประมาณของเทศบาลเมืองนครสวรรค์ในขณะนั้น เป็นจำนวนเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท  (หนึ่งแสนบาทถ้วน) และศาลหลักเมืองได้ทำการก่อสร้างจนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๖  

               เสาหลักเมืองนครสวรรค์นี้สร้างจากไม้มงคลราชพฤกษ์   และได้นำทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ทรงพระสุหร่ายและทรงเจิม ณ พระราชตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖ และได้กระทำพิธียกเสาหลักเมืองขึ้นประดิษฐาน เมื่อวันที่  ๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๗ ตรงกับวันศุกร์  เวลา ๑๑.๕๙ น.

            ในทุกๆ ปี จะมีการจัดงานสมโภชศาลหลักเมืองนครสวรรค์อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งได้ฉลองครบรอบ ๔๐ ปีศาลหลักเมืองนครสวรรค์ ไปเมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ในงานพิธีอันเป็นมงคลนี้ที่มีชื่อว่า “พิธีวันอาจาริยะบูชา” ซึ่งจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนมิถุนายน  ณ  ศาลาเอนกประสงค์ศาลหลักเมือง จังหวัดนครสวรรค์

ศาลหลักเมืองจังหวัดนครสวรรค์  (Nakhonsawan City Pillar Shrine)
ปัจจุบันตั้งอยู่ ณ บริเวณเชิงเขากบ ตรงข้ามกับโรงเรียนนครสวรรค์
ใกล้กับสำนักงานเทศบาลนครสวรรค์  ตำบลปากน้ำโพ  
อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์
 


ศาลหลักเมืองจังหวัดพิจิตร (Phichit City Pillar Shrine)

ศาลหลักเมืองจังหวัดพิจิตร
ณ วันพุธที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ (วันวิสาขบูชา)

ศาลหลักเมืองจังหวัดพิจิตร (Phichit City Pillar Shrine)
          ปัจจุบันตั้งอยู่ : ณ ภายในบริเวณสวนรุกขชาติกาญจนกุมาร อุทยานเมืองเก่าพิจิตร ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร

          ศาลหลักเมืองจังหวัดพิจิตร เป็นสถาปัตยกรรมไทย ศาลาทรงไทยรูปจตุรมุขเปิดโล่ง โดยอาคารศาลหลักเมืองจะแบ่งออกเป็น ๒ ชั้น คือ ด้านบนจะเป็นที่ตั้งของศาลหลักเมือง บริเวณพื้นด้านบนจะปูด้วยหินอ่อน ขนาดกว้าง ๕ วา ยาว ๕ วา  มีกำแพงแก้วรอบนอก  หลังคาทรงไทยเป็นทรงจั่ว ๔ ด้าน ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ที่หน้าบันของมุขทั้ง ๔ ด้าน สลักเป็นลายไทย หลังคามุงกระเบื้องเกล็ด ชายคาหลังคาลาดลงมีโครงสร้างเป็นปูน เสาที่รองรับมุขหลังคาเป็นเสาก่ออิฐถือปูนสี่เหลี่ยม ประดับด้วยนาคทัณฑ์หรือไม้ค้ำยันรูปสามเหลี่ยมลายไทย รับน้ำหนักของชายคาลงมาที่เสาของศาลาทรงไทย บันไดทางขึ้น-ลง  มีเพียง ๒ ทิศ  แต่ละทิศมีบันได ๒ ข้าง เยื้องกัน




          ส่วนด้านหน้าศาลาทรงไทยรูปจตุรมุขของศาลหลักเมือง ต่อยื่นเป็นหลังคาทรงไทยชั้นลด ๒ ชั้น ยื่นออกมาครอบทางลงห้องด้านล่าง เป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นของ "พระยาโครตบองเทวราช" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "พ่อปู่" หรือ "พ่อปู่หลักเมือง" เสาที่รองรับมุขหลังคาด้านหน้าเป็นเสาก่ออิฐถือปูนทรงกลมประดับด้วยกระเบื้องเกล็ดแก้วสีเงิน


          เสาหลักเมืองจังหวัดพิจิตร ทำจากไม้ชัยพฤกษ์ ยอดเสาทำจากไม้สักแกะสลักเป็นรูปพระพรหมสี่หน้า  โคนเสาหลักเมืองทั้งสี่ทิศ แกะสลัก คำว่า " เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา"  ฐานรองรับเสาหลักเมืองเป็นไม้สักแกะสลักเป็นรูปบัวคว่ำ-บัวหงาย ลงรักปิดทอง  ฐานล่างสุดเป็นพื้นหินอ่อนทรงกลม ซ้อนสองชั้น  

ป้ายบอกทางไปศาลหลักเมืองพิจิตร ภายในอุทยานเมืองเก่าพิจิตร
บริเวณด้านหน้าศาลหลักเมืองพิจิตร
จะมีป้ายประวัติบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของศาลหลักเมืองพิจิตร
และประวัติพ่อปู่พระยาโครตบองเทวราช

เทวดาผู้สถิตอภิบาลปกปักษ์รักษา ณ ศาลหลักเมืองพิจิตร

เสาหลักเมืองพิจิตร  ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปพรหมสี่หน้า
อันหมายถึง “เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา”



คำกล่าวบูชาสักการะองค์พระหลักเมือง
เติมน้ำมันตะเกียง ภายในศาลหลักเมืองพิจิตร



ป้ายประวัติบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของศาลหลักเมืองพิจิตร
และประวัติพ่อปู่พระยาโครตบองเทวราช

จุดจำหน่ายพวงมาลัย ธูป เทียน ผ้าแพร ๓ สี  น้ำมันตะเกียง
บริเวณด้านหน้าทางเข้าศาลหลักเมืองพิจิตร
ศาลหลักเมืองพิจิตร หลังคาทรงจั่ว หน้าบันแกะสลักลายไทยอย่างสวยงาม
ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์










ประวัติศาลหลักเมืองจังหวัดพิจิตร
ศาลหลักเมืองพิจิตรสร้างขึ้นในราวปี พุทธศักราช ๑๖๐๑ สมัยพระเจ้ากาญจนกุมาร เป็นผู้ครองนครชัยบวร แต่ศาลหลักเมืองได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จึงไม่สามารถระบุสถานที่ตั้งได้อย่างแน่ชัด

ต่อมาปี พุทธศักราช ๒๕๐๗-๒๕๑๐  นายแสวง ศรีมาเสริม ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรในสมัยนั้น ได้มีดำริที่จะบูรณะปรับปรุงฟื้นฟูเมืองพิจิตรเก่าขึ้น เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและได้กำหนดให้มีการฝังเสาหลักเมืองขึ้นใหม่ เพื่อเป็นการเสริมสร้างและเป็นที่รวมจิตใจของชาวพิจิตร โดยหลวงปู่โง่น โสรโย (วัดพระพุทธบาทเขารวก ตำบลวังหลุม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร) ได้นั่งสมาธิวิปัสสนากรรมฐาน เห็นที่ตั้งศาลหลักเมืองเก่า และราวปี พุทธศักราช ๒๕๐๗  ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร  ได้ทำพิธีขุดหาเสาหลักเมืองเดิม  เมื่อขุดลงไปพบซากไม้ที่ใช้ทำหลักเมืองอยู่สภาพที่ผุชำรุดมาก และซากโครงกระดูกวัตถุโบราณอีกมากมายหลายอย่าง จึงพอสันนิษฐานได้ว่า บริเวณพื้นที่ตั้งศาลหลักเมืองปัจจุบันเป็นที่ตั้งศาลหลักเมือง สมัยที่พระยาโครตบองเทวราช ฝังไว้แต่เดิม

        ต่อมา ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร  ได้ประสานกับกรมศิลปากร เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ศาลหลักเมืองที่เมืองพิจิตรเก่านี้ และจัดหาไม้สักมาแกะสลักทำยอดเสาหลักเมืองใหม่  ส่วนเสาหลักเมืองเป็นไม้ชัยพฤกษ์  ฐานรองรับเสาหลักเมืองเป็นไม้สักแกะสลัก  และได้มีกำหนดพิธีการวางศิลาฤกษ์หลักเมือง และตั้งศาลหลักเมืองใหม่โดย หลวงปู่โง่น โสรโย  ในวันอังคารที่ ๑๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๑ (ค.ศ. ๑๙๖๘)  เวลา ๑๒.๐๐ น. ตรงกับวันอังคาร แรม ๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก จุลศักราช ๑๓๓๐  มีการจารึกลงบนศิลาฤกษ์ ปรากฏไว้ที่ศาลหลักเมืองพิจิตร


ด้วยหลวงปู่โง่น โสรโย (วัดพระพุทธบาทเขารวก ตำบลวังหลุม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร) ประสงค์แสดงให้ประจักษ์ในเทพเทวดาสถิตอภิบาลรักษา ณ  ศาลหลักเมืองพิจิตรแห่งนี้ ดังนี้
วสุเทพ  คือ เทพที่สถิตอยู่ใต้ดิน อันได้แก่ "พ่อปู่หลักเมือง"
กรุทรเทพ คือ เทพที่สถิตอยู่ระหว่างอากาศและพื้นดิน อันได้แก่ " เสาหลักเมืองพิจิตร"
อาทิตษเทพ คือ เทพที่สถิตอยู่ในอากาศ และน่านฟ้า
ดังนั้น : การจะจัดสร้างจึงให้สูงหรือต่ำกว่านี้มิได้  การขึ้นไปกราบไหว้หลักเมืองพิจิตรจึงต้องทำด้วยความเคารพ จะเป็นมงคลแก่ตน

ในวันที่  ๒๑ กุมภาพันธ์  พุทธศักราช ๒๕๑๒  ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้เชิญเสาหลักเมืองใหม่ ขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙)  ทรงเจิมและทรงพระสุหร่าย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  ซึ่งในคราวนั้นพระองค์ได้พระราชทานเส้นพระเกศา เพื่อบรรจุที่เศียรพรหมสี่หน้ายอดเสาหลักเมือง  รวมทั้งพระราชทานเพชร ๙ สี พร้อมแผ่นทองจารึก พระปรมาภิไธย “ภปร.” ประดับเสาหลักเมือง  และมีกระแสพระราชดำรัสว่า “มอบให้เป็นมิ่งขวัญกับชาวพิจิตรทั้งหมด  ฝากความคิดถึงให้ประชาชนชาวพิจิตรด้วย ขอให้จังหวัดพิจิตรเจริญรุ่งเรืองมีชื่อเสียงต่อไป” 

หลังจากนั้น  ทางจังหวัดได้อัญเชิญเสาหลักเมืองไปประดิษฐานไว้ที่ศาลากลางจังหวัดพิจิตร  จนกระทั่งงานก่อสร้างศาลหลักเมืองพิจิตรแล้วเสร็จ  จึงได้อัญเชิญกลับไปประดิษฐาน ณ อุทยานเมืองเก่า  และทำพิธีฝังเสาหลักเมืองในระหว่างวันที่ ๑๐-๑๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๒

         ศาลหลักเมืองพิจิตร ได้บูรณะและปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบอีกครั้งให้สวยงามและแล้วเสร็จเมื่อ ประมาณพุทธศักราช ๒๕๒๐  โดยจัดสร้างอาคารแบ่งออกเป็น ๒ ชั้น คือ ด้านบนจะเป็นที่ตั้งของศาลหลักเมือง ส่วนด้านล่างจะเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นของ "พระยาโครตบองเทวราช" ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "พ่อปู่" สภาพโดยรอบศาลหลักเมืองและกำแพงแก้วทั้งสี่ทิศ  จะมีต้นไม้มากมายดูร่มรื่นเย็นตา ในบริเวณยังมีศาลาสำหรับนักท่องเที่ยวพักผ่อนอีกด้วย



ประวัติพระยาโครตบองเทวราช (“พ่อปู่” หรือ “พ่อปู่หลักเมือง”)


พระยาโครตบองเทวราช หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “พ่อปู่”  เป็นพระนามของ พระเจ้ากาญจนกุมาร หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เจ้าจันทร์ ในราชวงศ์ โครตบอง เป็นโอรสของพระยาโคตมเทวราช ทรงขึ้นครองราชย์ประมาณปี พุทธศักราช ๑๖๐๐ เป็นผู้ปกครองนครชัยบวร ต่อจากพระบิดา  ต่อมาเมื่อปี พุทธศักราช ๑๖๐๑ ในครั้งที่พระองค์เสด็จทางชลมารคตามลำน้ำน่านเก่า ถึงหมู่บ้านสระหลวง ทรงเห็นประโยชน์ทั้งทางยุทธศาสตร์และการทำมาหากินของราษฎร  จึงทรงดำริย้ายเมืองจากนครชัยบวร  มาสร้างเมืองใหม่ขึ้น ทรงพระราชทานนามเมืองใหม่นี้ชื่อว่า เมืองสระหลวงหรือ “เมืองพิจิตร” เมื่อพุทธศักราช ๑๖๐๑ และไพร่ฟ้าข้าราชบริพาร พระประยูรวงศานุวงศ์ ได้ถวายพระนามใหม่แด่พระองค์ ทรงพระนามว่า “พระยาโครตบองเทวราช” เป็นกษัตริย์ครองเมืองพิจิตรสืบมา และมีบรรพกษัตริย์สืบราชวงศ์ต่อมาอีกประมาณ ๒๐๐ ปี
บริเวณภายในห้องด้านล่างศาลหลักเมืองจังหวัดพิจิตร
ประดิษฐานรูปปั้น "พ่อปู่พระยาโครตบองเทวราช"


คำบูชาพ่อปู่พระยาโครตบองเทวราช

ใบเซียมซี ภายในห้องด้านล่าง "พ่อปู่หลักเมืองพิจิตร”

ตีระฆัง  อธิษฐานบอกกล่าว "พ่อปู่หลักเมืองพิจิตร


       เทศกาลสงกรานต์ สรงน้ำพ่อปู่ บูชาหลักเมืองพิจิตร เป็นกิจกรรมที่ทางจังหวัดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี  ระหว่างวันที่ ๗-๙ เมษายน  ณ  บริเวณหน้าศาลหลักเมืองจังหวัดพิจิตร 


           ต้นลีลาวดี อายุเก่าแก่ ๕๐ กว่าปี จำนวน ๑๕ ต้น จะออกดอกบานสะพรั่งเต็มต้น สีแดงสลับเหลือง และ ดอกสีขาวสลับเหลือง อย่างสวยงาม โดยเฉพาะช่วงที่ดอกของต้นลีลาวดี ร่วงหล่นลงมา บนพื้นหญ้า ทำให้ดอกสีขาวสลับสีเหลือง สีแดงสลับสีเหลือง ตัดกับพื้นหญ้าสีเขียว สร้างความสวยงามโดยรอบพื้นที่ศาลหลักเมืองพิจิตร
       ต้นลีลาวดี ถูกนำมาปลูกไว้ ตั้งแต่ ปี พุทธศักราช ๒๕๐๙  ในช่วงเดือน มีนาคม ถึง เดือนเมษายน ของทุกปีต้นลีลาวดีจะออกดอกเต็มต้น เป็นภาพที่สวยงาม สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว ที่เข้ามาสักการะไหว้ศาลหลักเมือง และ พระยาโครตบองเทวราช  พ่อปู่ผู้สร้างเมืองพิจิตร 



ศาลหลักเมืองจังหวัดพิจิตร (Phichit City Pillar Shrine)
ปัจจุบันตั้งอยู่ : ณ ภายในบริเวณสวนรุกขชาติกาญจนกุมาร
อุทยานเมืองเก่าพิจิตร ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร