สารบัญศาลหลักเมือง

วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ศาลหลักเมืองจังหวัดพิจิตร (Phichit City Pillar Shrine)

ศาลหลักเมืองจังหวัดพิจิตร
ณ วันพุธที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ (วันวิสาขบูชา)

ศาลหลักเมืองจังหวัดพิจิตร (Phichit City Pillar Shrine)
          ปัจจุบันตั้งอยู่ : ณ ภายในบริเวณสวนรุกขชาติกาญจนกุมาร อุทยานเมืองเก่าพิจิตร ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร

          ศาลหลักเมืองจังหวัดพิจิตร เป็นสถาปัตยกรรมไทย ศาลาทรงไทยรูปจตุรมุขเปิดโล่ง โดยอาคารศาลหลักเมืองจะแบ่งออกเป็น ๒ ชั้น คือ ด้านบนจะเป็นที่ตั้งของศาลหลักเมือง บริเวณพื้นด้านบนจะปูด้วยหินอ่อน ขนาดกว้าง ๕ วา ยาว ๕ วา  มีกำแพงแก้วรอบนอก  หลังคาทรงไทยเป็นทรงจั่ว ๔ ด้าน ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ที่หน้าบันของมุขทั้ง ๔ ด้าน สลักเป็นลายไทย หลังคามุงกระเบื้องเกล็ด ชายคาหลังคาลาดลงมีโครงสร้างเป็นปูน เสาที่รองรับมุขหลังคาเป็นเสาก่ออิฐถือปูนสี่เหลี่ยม ประดับด้วยนาคทัณฑ์หรือไม้ค้ำยันรูปสามเหลี่ยมลายไทย รับน้ำหนักของชายคาลงมาที่เสาของศาลาทรงไทย บันไดทางขึ้น-ลง  มีเพียง ๒ ทิศ  แต่ละทิศมีบันได ๒ ข้าง เยื้องกัน




          ส่วนด้านหน้าศาลาทรงไทยรูปจตุรมุขของศาลหลักเมือง ต่อยื่นเป็นหลังคาทรงไทยชั้นลด ๒ ชั้น ยื่นออกมาครอบทางลงห้องด้านล่าง เป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นของ "พระยาโครตบองเทวราช" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "พ่อปู่" หรือ "พ่อปู่หลักเมือง" เสาที่รองรับมุขหลังคาด้านหน้าเป็นเสาก่ออิฐถือปูนทรงกลมประดับด้วยกระเบื้องเกล็ดแก้วสีเงิน


          เสาหลักเมืองจังหวัดพิจิตร ทำจากไม้ชัยพฤกษ์ ยอดเสาทำจากไม้สักแกะสลักเป็นรูปพระพรหมสี่หน้า  โคนเสาหลักเมืองทั้งสี่ทิศ แกะสลัก คำว่า " เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา"  ฐานรองรับเสาหลักเมืองเป็นไม้สักแกะสลักเป็นรูปบัวคว่ำ-บัวหงาย ลงรักปิดทอง  ฐานล่างสุดเป็นพื้นหินอ่อนทรงกลม ซ้อนสองชั้น  

ป้ายบอกทางไปศาลหลักเมืองพิจิตร ภายในอุทยานเมืองเก่าพิจิตร
บริเวณด้านหน้าศาลหลักเมืองพิจิตร
จะมีป้ายประวัติบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของศาลหลักเมืองพิจิตร
และประวัติพ่อปู่พระยาโครตบองเทวราช

เทวดาผู้สถิตอภิบาลปกปักษ์รักษา ณ ศาลหลักเมืองพิจิตร

เสาหลักเมืองพิจิตร  ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปพรหมสี่หน้า
อันหมายถึง “เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา”



คำกล่าวบูชาสักการะองค์พระหลักเมือง
เติมน้ำมันตะเกียง ภายในศาลหลักเมืองพิจิตร



ป้ายประวัติบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของศาลหลักเมืองพิจิตร
และประวัติพ่อปู่พระยาโครตบองเทวราช

จุดจำหน่ายพวงมาลัย ธูป เทียน ผ้าแพร ๓ สี  น้ำมันตะเกียง
บริเวณด้านหน้าทางเข้าศาลหลักเมืองพิจิตร
ศาลหลักเมืองพิจิตร หลังคาทรงจั่ว หน้าบันแกะสลักลายไทยอย่างสวยงาม
ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์










ประวัติศาลหลักเมืองจังหวัดพิจิตร
ศาลหลักเมืองพิจิตรสร้างขึ้นในราวปี พุทธศักราช ๑๖๐๑ สมัยพระเจ้ากาญจนกุมาร เป็นผู้ครองนครชัยบวร แต่ศาลหลักเมืองได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จึงไม่สามารถระบุสถานที่ตั้งได้อย่างแน่ชัด

ต่อมาปี พุทธศักราช ๒๕๐๗-๒๕๑๐  นายแสวง ศรีมาเสริม ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรในสมัยนั้น ได้มีดำริที่จะบูรณะปรับปรุงฟื้นฟูเมืองพิจิตรเก่าขึ้น เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและได้กำหนดให้มีการฝังเสาหลักเมืองขึ้นใหม่ เพื่อเป็นการเสริมสร้างและเป็นที่รวมจิตใจของชาวพิจิตร โดยหลวงปู่โง่น โสรโย (วัดพระพุทธบาทเขารวก ตำบลวังหลุม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร) ได้นั่งสมาธิวิปัสสนากรรมฐาน เห็นที่ตั้งศาลหลักเมืองเก่า และราวปี พุทธศักราช ๒๕๐๗  ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร  ได้ทำพิธีขุดหาเสาหลักเมืองเดิม  เมื่อขุดลงไปพบซากไม้ที่ใช้ทำหลักเมืองอยู่สภาพที่ผุชำรุดมาก และซากโครงกระดูกวัตถุโบราณอีกมากมายหลายอย่าง จึงพอสันนิษฐานได้ว่า บริเวณพื้นที่ตั้งศาลหลักเมืองปัจจุบันเป็นที่ตั้งศาลหลักเมือง สมัยที่พระยาโครตบองเทวราช ฝังไว้แต่เดิม

        ต่อมา ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร  ได้ประสานกับกรมศิลปากร เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ศาลหลักเมืองที่เมืองพิจิตรเก่านี้ และจัดหาไม้สักมาแกะสลักทำยอดเสาหลักเมืองใหม่  ส่วนเสาหลักเมืองเป็นไม้ชัยพฤกษ์  ฐานรองรับเสาหลักเมืองเป็นไม้สักแกะสลัก  และได้มีกำหนดพิธีการวางศิลาฤกษ์หลักเมือง และตั้งศาลหลักเมืองใหม่โดย หลวงปู่โง่น โสรโย  ในวันอังคารที่ ๑๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๑ (ค.ศ. ๑๙๖๘)  เวลา ๑๒.๐๐ น. ตรงกับวันอังคาร แรม ๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก จุลศักราช ๑๓๓๐  มีการจารึกลงบนศิลาฤกษ์ ปรากฏไว้ที่ศาลหลักเมืองพิจิตร


ด้วยหลวงปู่โง่น โสรโย (วัดพระพุทธบาทเขารวก ตำบลวังหลุม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร) ประสงค์แสดงให้ประจักษ์ในเทพเทวดาสถิตอภิบาลรักษา ณ  ศาลหลักเมืองพิจิตรแห่งนี้ ดังนี้
วสุเทพ  คือ เทพที่สถิตอยู่ใต้ดิน อันได้แก่ "พ่อปู่หลักเมือง"
กรุทรเทพ คือ เทพที่สถิตอยู่ระหว่างอากาศและพื้นดิน อันได้แก่ " เสาหลักเมืองพิจิตร"
อาทิตษเทพ คือ เทพที่สถิตอยู่ในอากาศ และน่านฟ้า
ดังนั้น : การจะจัดสร้างจึงให้สูงหรือต่ำกว่านี้มิได้  การขึ้นไปกราบไหว้หลักเมืองพิจิตรจึงต้องทำด้วยความเคารพ จะเป็นมงคลแก่ตน

ในวันที่  ๒๑ กุมภาพันธ์  พุทธศักราช ๒๕๑๒  ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้เชิญเสาหลักเมืองใหม่ ขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙)  ทรงเจิมและทรงพระสุหร่าย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  ซึ่งในคราวนั้นพระองค์ได้พระราชทานเส้นพระเกศา เพื่อบรรจุที่เศียรพรหมสี่หน้ายอดเสาหลักเมือง  รวมทั้งพระราชทานเพชร ๙ สี พร้อมแผ่นทองจารึก พระปรมาภิไธย “ภปร.” ประดับเสาหลักเมือง  และมีกระแสพระราชดำรัสว่า “มอบให้เป็นมิ่งขวัญกับชาวพิจิตรทั้งหมด  ฝากความคิดถึงให้ประชาชนชาวพิจิตรด้วย ขอให้จังหวัดพิจิตรเจริญรุ่งเรืองมีชื่อเสียงต่อไป” 

หลังจากนั้น  ทางจังหวัดได้อัญเชิญเสาหลักเมืองไปประดิษฐานไว้ที่ศาลากลางจังหวัดพิจิตร  จนกระทั่งงานก่อสร้างศาลหลักเมืองพิจิตรแล้วเสร็จ  จึงได้อัญเชิญกลับไปประดิษฐาน ณ อุทยานเมืองเก่า  และทำพิธีฝังเสาหลักเมืองในระหว่างวันที่ ๑๐-๑๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๒

         ศาลหลักเมืองพิจิตร ได้บูรณะและปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบอีกครั้งให้สวยงามและแล้วเสร็จเมื่อ ประมาณพุทธศักราช ๒๕๒๐  โดยจัดสร้างอาคารแบ่งออกเป็น ๒ ชั้น คือ ด้านบนจะเป็นที่ตั้งของศาลหลักเมือง ส่วนด้านล่างจะเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นของ "พระยาโครตบองเทวราช" ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "พ่อปู่" สภาพโดยรอบศาลหลักเมืองและกำแพงแก้วทั้งสี่ทิศ  จะมีต้นไม้มากมายดูร่มรื่นเย็นตา ในบริเวณยังมีศาลาสำหรับนักท่องเที่ยวพักผ่อนอีกด้วย



ประวัติพระยาโครตบองเทวราช (“พ่อปู่” หรือ “พ่อปู่หลักเมือง”)


พระยาโครตบองเทวราช หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “พ่อปู่”  เป็นพระนามของ พระเจ้ากาญจนกุมาร หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เจ้าจันทร์ ในราชวงศ์ โครตบอง เป็นโอรสของพระยาโคตมเทวราช ทรงขึ้นครองราชย์ประมาณปี พุทธศักราช ๑๖๐๐ เป็นผู้ปกครองนครชัยบวร ต่อจากพระบิดา  ต่อมาเมื่อปี พุทธศักราช ๑๖๐๑ ในครั้งที่พระองค์เสด็จทางชลมารคตามลำน้ำน่านเก่า ถึงหมู่บ้านสระหลวง ทรงเห็นประโยชน์ทั้งทางยุทธศาสตร์และการทำมาหากินของราษฎร  จึงทรงดำริย้ายเมืองจากนครชัยบวร  มาสร้างเมืองใหม่ขึ้น ทรงพระราชทานนามเมืองใหม่นี้ชื่อว่า เมืองสระหลวงหรือ “เมืองพิจิตร” เมื่อพุทธศักราช ๑๖๐๑ และไพร่ฟ้าข้าราชบริพาร พระประยูรวงศานุวงศ์ ได้ถวายพระนามใหม่แด่พระองค์ ทรงพระนามว่า “พระยาโครตบองเทวราช” เป็นกษัตริย์ครองเมืองพิจิตรสืบมา และมีบรรพกษัตริย์สืบราชวงศ์ต่อมาอีกประมาณ ๒๐๐ ปี
บริเวณภายในห้องด้านล่างศาลหลักเมืองจังหวัดพิจิตร
ประดิษฐานรูปปั้น "พ่อปู่พระยาโครตบองเทวราช"


คำบูชาพ่อปู่พระยาโครตบองเทวราช

ใบเซียมซี ภายในห้องด้านล่าง "พ่อปู่หลักเมืองพิจิตร”

ตีระฆัง  อธิษฐานบอกกล่าว "พ่อปู่หลักเมืองพิจิตร


       เทศกาลสงกรานต์ สรงน้ำพ่อปู่ บูชาหลักเมืองพิจิตร เป็นกิจกรรมที่ทางจังหวัดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี  ระหว่างวันที่ ๗-๙ เมษายน  ณ  บริเวณหน้าศาลหลักเมืองจังหวัดพิจิตร 


           ต้นลีลาวดี อายุเก่าแก่ ๕๐ กว่าปี จำนวน ๑๕ ต้น จะออกดอกบานสะพรั่งเต็มต้น สีแดงสลับเหลือง และ ดอกสีขาวสลับเหลือง อย่างสวยงาม โดยเฉพาะช่วงที่ดอกของต้นลีลาวดี ร่วงหล่นลงมา บนพื้นหญ้า ทำให้ดอกสีขาวสลับสีเหลือง สีแดงสลับสีเหลือง ตัดกับพื้นหญ้าสีเขียว สร้างความสวยงามโดยรอบพื้นที่ศาลหลักเมืองพิจิตร
       ต้นลีลาวดี ถูกนำมาปลูกไว้ ตั้งแต่ ปี พุทธศักราช ๒๕๐๙  ในช่วงเดือน มีนาคม ถึง เดือนเมษายน ของทุกปีต้นลีลาวดีจะออกดอกเต็มต้น เป็นภาพที่สวยงาม สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว ที่เข้ามาสักการะไหว้ศาลหลักเมือง และ พระยาโครตบองเทวราช  พ่อปู่ผู้สร้างเมืองพิจิตร 



ศาลหลักเมืองจังหวัดพิจิตร (Phichit City Pillar Shrine)
ปัจจุบันตั้งอยู่ : ณ ภายในบริเวณสวนรุกขชาติกาญจนกุมาร
อุทยานเมืองเก่าพิจิตร ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น