สารบัญศาลหลักเมือง

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม (Samut Songkhram City Pillar Shrine)

ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
ณ  วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙


ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม (Samut Songkhram City Pillar Shrine)
        ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ : หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม ตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม
          ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทย เป็นมณฑปจตุรมุขทรงไทย ก่ออิฐฉาบปูนทาสีเหลืองทองทั้งอาคารศาล หลังคาซ้อน ๒ ชั้นยอดปรางค์  ส่วนของยอดปรางค์ประดับฝักเพกา (ลำภุขัน) มีลักษณะคล้ายวชิราวุธอันเป็นอาวุธของพระอินทร์ มีซุ้มประตูเข้า-ออกทั้ง ๔ ด้าน กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ 
           ภายในประดิษฐานเสาหลักเมือง ซึ่งมีลักษณะเป็นเสากลม ทำจากไม้มงคลชัยพฤกษ์ ฐานแกะสลักเป็นกลีบดอกบัวรองรับ หัวเสาแกะสลักเป็นดอกบัวภายในบรรจุผะอบทองคำชั้นนอกเป็นผะอบทองยอดปริก ชั้นสองผะอบซ้อนอยู่ข้างใน ชั้นในสุดผะอบทองคำสำหรับบรรจุเส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศา-เส้นผมพระมหากษัตริย์) ปลายยอดเสาหลักเมืองแกะสลักเป็น ๔ เศียร ๔ พักตร์อย่างสวยงาม โดยกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบและแกะสลักเสาหลักเมือง 
ป้ายกำแพงศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
ภูมิทัศน์ภายนอกศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม มีลักษณะเป็นเสากลม
ทำจากไม้มงคลชัยพฤกษ์ ฐานแกะสลักเป็นกลีบดอกบัวรองรับ
หัวเสาแกะสลักเป็นดอกบัว  ภายในบรรจุผะอบทองคำ
สำหรับบรรจุเส้นพระเจ้า (พระเกศาของพระมหากษัตริย์)
ปลายยอดเสาหลักเมืองแกะสลักเป็น ๔ เศียร ๔ พักตร์ 
เพดานด้านบนภายในศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
ป้ายบูชาพระหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
และคาถาบูชาองค์พระหลักเมือง

เซียมซีในศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม

ดอกไม้ ธูป-เทียน แผ่นทองคำเปลว ตะเกียงน้ำมัน
บูชาพระหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
ภายนอกอาคารศาลหลักเมืองสมุทรสงครามได้จัดสถานที่
แขวนพวงมาลัย กระถางปักธูป-เทียน
เพื่อความสะดวกของผู้มากราบสักการะ
ภูมิทัศน์ที่สวยงามภายนอกอาคารศาลหลักเมืองสมุทรสงคราม
ภูมิทัศน์ที่สวยงามภายนอกอาคารศาลหลักเมืองสมุทรสงคราม
ภูมิทัศน์ที่สวยงามภายนอกอาคารศาลหลักเมืองสมุทรสงคราม
มุมกำแพงทิศตะวันออกของศาลหลักเมือง
เป็นที่ประดิษฐานองค์พระพรหม

ตราสัญลักษณ์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม
ตราสัญลักษณ์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม
สิงห์ทองคู่บริเวณประตูทางเข้าศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
เป็นเครื่องหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง
และช่วยคุ้มครองให้ประชาชนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข
ช่วยขจัดสิ่งไม่ดีทั้งหลายให้หมดไป
ประวัติศาลหลักเมืองและหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
        ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม นี้สร้างในสมัย นายชาญ กาจนนาคพันธุ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม โดยพิจารณาเห็นว่าจังหวัดสมุทรสงครามนี้เป็นจังหวัดเก่าแก่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์หลายอย่างผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามและสภาจังหวัดลงมติเป็นเอกฉันท์ให้สร้างขึ้นเพราะถือว่า เป็นเมืองเก่าแก่ทุกแห่งจะต้องมีศาลหลักเมือง
สำหรับเมืองสมุทรสงครามนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้สอบถามไปยังกรมศิลปกรว่าเคยมีศาลหลักเมืองหรือไม่ ทางกรมศิลปากรได้ค้นหาปรากฏว่าไม่มี ทางจังหวัดจึงให้กรมศิลปากรออกแบบศาลหลักเมืองขึ้น

ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม สร้างขึ้นโดยดำริของนายชาญ  กาญจนาคพันธุ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามในสมัยนั้น โดยมีนายเทพ  สุนทรศารทูล เป็นประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ และเลขานุการคณะกรรมการศาลหลักเมือง 
ด้วยเหตุผลที่สำคัญ ๔ ประการคือ 
๑. เมืองสมุทรสงคราม ก่อตั้งเป็นบ้านเมืองมาตั้งแต่แผ่นดินของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช  จนกระทั่งบัดนี้ประมาณ ๔๐๐ ปี ยังไม่มีศาลหลักเมือง
๒. เมืองสมุทรสงคราม เป็นเมืองราชินิกุลบางช้าง และยังเป็นเมืองที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ทรงพระราชสมภพ อันเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่สำคัญของราชวงศ์จักรี  ควรจะมีศาลหลักเมืองไว้เชิดหน้าชูตาของบ้านเมือง
๓. การสร้างศาลหลักเมือง เป็นประเพณีมาแต่โบราณ  หัวเมืองที่สำคัญท่านนิยมสร้างศาลหลักเมืองไว้เป็นสัญลักษณ์ ว่าบ้านเมืองมั่นคง  ประชาชนอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข 
๔. ศาลหลักเมือง เป็นวัตถุสถานอันสำคัญ  ให้ประชาชนได้เคารพบูชาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนชาวเมืองให้มีความผูกพัน  รักใคร่ปรองดองกัน มีความสมานสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  อยู่ทำมาหากินด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  อันเป็นหลักใหญ่ของการปกครองบ้านเมืองทุกยุคทุกสมัย 

ต่อมาได้มีหนังสือราชการถึงเลขาธิการสำนักพระราชวัง ขอให้โหรสำนักพระราชวังกำหนดวันวางศิลาฤกษ์  โดย...นายเทพ สุนทรศารทูล ได้ไปติดต่อโหรสำนักพระราชวัง  โหรสำนักพระราชวังได้กำหนดวางศิลาฤกษ์ให้คือ วันที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๗  เวลา ๗.๑๖ น. เป็นปฐมฤกษ์  เวลา ๗.๔๑ น. เป็นปัจฉิมฤกษ์ ลัคนาเกาะราศีธนู เป็นมหัทโนฤกษ์  อาทิตย์ พุธ ศุกร์ กุมลัคนา อังคารกาลกินี  เป็นวินาศแก่ลัคนา อยู่ราศีพิจิก  จันทร์เป็นมหาจักร อยู่ราศีเมษ  พฤหัสบดีโยคหน้า  นับเป็นฤกษ์ดีที่สุดสัมพันธ์กับดวงเมืองของประเทศไทย สัมพันธ์กับดวงชะตาของพระมหากษัตริย์องค์ประมุขของชาติ  โดยมี ฯพณฯ พล.ต.อรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น เป็นผู้วางศิลาฤกษ์ มีสมเด็จพระธีรญาณมุนี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มีพระราชครูวามเทพมุนี เป็นประธานฝ่ายพราหมณ์โหรประจำสำนักพระราชวัง และได้ให้ฤกษ์พิธียกเสาหลักเมืองในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘  ระหว่างเวลา ๑๓.๔๔ น. ถึง ๑๔.๑๘ น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ทรงเจิมและทรงพระสุหร่ายเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

ทางจังหวัดสมุทรสงครามได้เชิญ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นผู้ยกเสาหลักเมือง เพราะทางจังหวัดมีมติว่า หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช สืบสายมาจากราชินิกุลบางช้าง ในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งทรงพระราชสมภพที่จังหวัดนี้ จึงควรที่จะเป็นผู้ทำพิธียกเสาอันเป็นหลักของบ้านเมือง

ในการยกเสาหลักเมืองในครั้งนั้น ได้จัดเป็นพิธีการยิ่งใหญ่มากมีการเสาะหาบุคคลที่มีชื่อนายอิน นายจัน นายมั่น นายคง ให้สมมุติเป็นเทวดาประจำทิศทั้งสี่ ซึ่งในสมัยโบราณที่เป็นตำนานเล่าขานว่าจะมีการฝังบุคคลที่ทำพิธีทั้ง ๔ นี้ลงใต้เสาหลักเมืองทั้ง ๔ ทิศและต้องฝังทั้งเป็นด้วย (เพื่อจะให้เป็นเทวดาประจำเมือง) มีพระสงฆ์ ๑๐๘ รูปสวดมนต์ พราหมณ์บันลือสังข์ บัณเฑาะว์ มีการรำบวงสรวง โดยคณะข้าราชการครูและประชาชน เป็นต้นว่า รำบวงสรวงชุดเทพธิดา รำบวงสรวงชุดรัตนานุภาพ รำบวงสรวงชุดเต้นรำทำตาล เพื่อให้ศาลหลักเมืองแห่งนี้เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น

เมื่องานสร้างศาลหลักเมืองใกล้จะสำเร็จเรียบร้อย  ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบหมายให้...นายเทพ  สุนทรศารทูล นำหนังสือถึงเลขาธิการสำนักพระราชวัง ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเข้าเฝ้า  เพื่อนำยอดเสาหลักเมืองถวายให้ทรงเจิมและทรงพระสุหร่าย  ตลอดจนผูกผ้าห่มสีชมพู เพื่อนำมาห่มศาลหลักเมืองด้วย

         ในการนี้ นายเทพ สุนทรศารทูล ได้เข้าพบเลขาธิการสำนักพระราชวัง ดร.กัลย์ อิสรเสนา ณ อยุธยา นำหนังสือขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อขอพระมหากรุณาธิคุณ นำยอดเสาหลักเมืองขึ้นทูลเกล้าฯ และที่สำคัญคือ ขอพระราชทานเส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศา-เส้นผมพระมหากษัตริย์) ใส่ผะอบทองบรรจุยอดเสาศาลหลักเมืองด้วย  เพราะจังหวัดสมุทรสงครามเป็นเมืองต้นกำเนิดราชินีกุลบางช้าง เป็นเมืองพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมราชพงษเชษฐมเหศวรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) อันมีความเกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์จักรี จึงขอพระมหากรุณาธิคุณเป็นกรณีพิเศษ
ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม ก่อนทำพิธีเปิด ๑ เดือน
คณะกรรมการศาลหลักเมือง เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙)
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  เพื่อทรงเจิมและทรงพระสุหร่าย
เสาหลักเมืองสมุทรสงคราม วันจันทร์ที่ ๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘
นายชาญ  กาญจนาคพันธุ์  ผู้ว่าราชการจังหวัด
เป็นประธาน ประชุมคณะกรรมการศาลหลักเมือง
การประชุมครั้งแรก ๑๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๑๗
คณะกรรมการประชุมใหญ่-ประชุมย่อยอีกหลายสิบครั้ง
กว่าจะสร้างศาลหลักเมืองเสร็จสิ้น
พิธียกเสาหลักเมืองและงานสมโภชศาลหลักเมืองสมุทรสงคราม
โหรสำนักพระราชวังวางศิลาฤกษ์ให้วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘
เวลา ๑๓. ๔๔ น.  ถึง ๑๔.๑๘ น. เป็นราชาฤกษ์
ลัคนาสถิตย์ราศีตุลย์ เป็นฤกษ์ดีที่สุด
ในพิธียกเสาหลักเมืองนี้ได้เชิญ พณฯ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ปราโมช
นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี
ผู้มาร่วมงานทยอยโปรยข้าวตอก ดอกไม้ลงในหลุมศิลาฤกษ์
ขณะที่ทุกคนกำลังโปรยข้าวตอกดอกไม้ ฝนได้โปรยปรายลงมาอย่างน่าอัศจรรย์
เป็นสัญลักษณ์แห่งความร่มเย็นเป็นสุข ทุกคนอิ่มเอมใจที่ได้มีส่วนสร้าง
ถาวรวัตถุคู่บ้านเมืองที่จะเป็นจุดรวมจิตใจ ของชาวสมุทรสงคราม
ศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม
ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม
ตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น